ส่องต้นแบบ UPTEC สถาบันสร้างสตาร์ทอัพในโปรตุเกส

ส่องต้นแบบ UPTEC สถาบันสร้างสตาร์ทอัพในโปรตุเกส
ปตท.เยี่ยมชม University of Porto สถาบันชั้นนำผลิต นักวิทยาศาสตร์  และสตาร์ทอัพที่สำคัญ ชี้เมืองไทยมี‘กำเนิดวิทย์-VISTEC’ พร้อมสร้างนักวิจัยนวัตกรรมในอนาคต

เมือง Porto ประเทศโปรตุเกส เป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษา กว่า 45 สถาบัน เป็นศูนย์รวม Start up ที่ใหญ่ที่สุดในโปรตุเกส สำหรับ University of Porto เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ เปิดทำการเรียนการสอนใน 14 คณะทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา มีจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้นกว่า 34,000 คน โดยมีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและงานวิจัยของ University of Porto โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ที่อาจกล่าวได้ว่าจัดอยู่ในลำดับต้นๆของสหภาพยุโรป

สำหรับ UPTEC - Science and Technology Park of University of Porto หรืออุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยปอร์โต แบ่งออกเป็น 3 เขต ใหญ่ๆ 1.เขตนวัตกรรม Porto เป็นเขตที่เต็มไปด้วยความรู้ ความสามารถด้านนวัตกรรมในยุโรป มีนักศึกษาและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และมี ศูนย์ R&D พร้อมทั้ง Lab การพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2. เขตวัฒนธรรมศิลปะ มีทั้ง Historic Center รวมทั้งพิพิธพัณฑ์ และ art galleries 3. ศาสตร์ทางทะเล และสิ่งแวดล้อม มีงานวิจัยกว่า 450 ชิ้น

หน้าที่หลักของ UPTEC สนับสนุนนวัตกรรม สนับสนุนการเติบโตของ Start UP และการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรม  พร้อมสร้างการทำงานร่วมกันกับสถาบัน R&D ให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสทางไอเดียทางธุรกิจ และเชื่อมโยงสู่เครือข่ายทั่วโลกสำหรับการเติบโตและการก้าวไปสู่ความเป็นสากล กลยุทธ์การเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์: เน้นการสร้างระบบนิเวศรวมพันธมิตรระดับโลกไว้มากมาย ทั้งในอุตสาหกรรม และการลงทุน ร่วมกับบริษัทและสถาบันต่างๆ เช่น IBM, Amazon, Google Cloud ด้าน IP และการให้บริการด้านกฎหมาย ด้านการร่วมมือสร้างพันธมิตร กับหลายๆบริษัทและสถาบันใน EU อนาคต: UPTEC มีเป้าหมายเป็น Science and Technology Park ในระดับโลก เพื่อช่วยให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับความโปร่งใส, มีจริยธรรม และความยั่งยืน

สำหรับบริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยนักศึกษาเก่าร่วมกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยปอร์โต้ ซึ่งประสบความสำเร็จ ได้แก่

Bandora บริษัท Start Up ที่พัฒนาระบบอัตโนมัติภายในอาคาร หรือ Building Automation Systems (BAS) ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำให้การบริหารตึกและอาคาร ที่พัก สำนักงานและอาคารพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่เจ้าของตึก ด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมทำให้ Bandora สามารถประยุกต์และดัดแปลงความต้องการในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาอาคารให้สัมพันธ์กับระบบอัตโนมัติภายในอาคาร ทำให้ “มองเห็น” “วิเคราะห์” และ “ควบคุมได้” ว่าอาคารจะต้องตอบโจทย์ความต้องการอะไรบ้าง ทำให้สามารถบริหารงานอาคารได้สะดวกมากยิ่งขึ้น หัวใจสำคัญของระบบอัตโนมัติในอาคารคือความสามารถในการออกแบบการจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลที่เกิดขึ้นในทุกๆมิติของระบบอาคาร ระบบ Bandora จะเข้าไปฝังตัวเพื่อเก็บข้อมูลในระบบของอาคาร เก็บไว้บน cloud และแสดงผลให้เข้าใจง่ายบน app บนมือถือและแผง dashboard ให้ผู้ใช้งานเข้าใจ ว่าข้อดี หรือจุดบกพร่องของอาคารมีอะไรบ้างเพื่อการบริหารงานอาคารที่ง่ายและยั่งยืน

Astrolabium บริษัทที่เชี่ยวชาญในการพัฒนาและสร้าง software เพื่อการ “พยากรณ์เชิงปริมาณ” หรือการใช้ข้อมูลและสถิติมาต่อยอดเพื่อช่วยให้องค์กรหรือบริษัทสามารถใช้บริหารจัดการพลังงาน ตัวเลขทางบัญชี ระบบการขนส่ง และส่วนอื่นๆขององค์กร เพื่อลดความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ software ของ Astrolabium สามารถช่วยองค์กรในการตั้งราคา การประมาณตัวเลข การประเมินทรัพย์สิน ทรัพยากร ผลผลิตและยอดขาย เป็นต้น

NET4CO2  เป็นห้องปฏิบัติการที่เกิดจากความร่วมมือหลายๆองค์กรของโปรตุเกส ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาที่ไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นการสร้างโซลูชันทางอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Green Deal ของยุโรปในเรื่องความเป็นกลางของสภาพภูมิอากาศในปี 2050 โดยเน้นการพัฒนานวัตกรรมการลดคาร์บอน เริ่มตั้งแต่คิดค้นการวิจัยไปจนถึงการตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเร่งการทำโซลูชันที่แข่งขันได้ สำหรับการจับ การใช้ และการจัดเก็บ CO2 ไปสู่โลกที่ยั่งยืน

 อย่างไรก็ดีจะเห็นได้ว่าทั้งมหาวิทยาลัยและองค์กรใหญ่ๆ ร่วมมือสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือการสร้างรากฐานการศึกษาที่แข็งแรงให้กับเยาวชน เพื่อบ่มเพาะนักคิดนักวิจัยรุ่นใหม่ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะในเมืองไทยก็มีสถาบันการศึกษาชั้นนำที่สนับสนุนทางด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี

 โดย กลุ่ม ปตท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้มอบการพัฒนาด้านการศึกษาให้กับคนไทย บุกเบิกพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ภายใต้โครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)

 หนึ่งในความพิเศษของพื้นที่นี้คือ สถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และงานวิจัยโดยเฉพาะ โดยมีทั้งโรงเรียนมัธยมปลาย ‘กำเนิดวิทย์’ (KVIS) และมหาวิทยาลัยสำหรับปริญญาโทและเอกที่ชื่อ ‘สถาบันวิทยสิริเมธี’ (VISTEC)

 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) จัดการศึกษาให้กับผู้มีความสามารถพิเศษทางด้าน STEM (Science Technology Engineering Math) โดยมีเป้าหมายหลักคือ การก้าวสู่การเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์คุณภาพชั้นนำเทียบเท่าระดับนานาชาติ มุ่งปลูกฝังและพัฒนานักเรียนสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์คุณภาพของประเทศ

 ทางด้านสถาบันวิทยสิริเมธี ก็มุ่งเน้นงานวิจัยระดับแนวหน้า หรือที่เรียกว่า Frontier Research แบ่งเป็น 4 สำนักวิชา คือ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน, สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล, สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (Frontier Research Center; FRC) เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยต่างๆ

 

TAGS: #UPTEC #สตาร์ทอัพ #โปรตุเกส #กำเนิดวิทย์ #VISTEC’