อดีต รมว.คลังชำแหละแจกเงินดิจิทัล ส่อผิดพ.ร.บ.วินัยการเงิน

อดีต รมว.คลังชำแหละแจกเงินดิจิทัล ส่อผิดพ.ร.บ.วินัยการเงิน
“ธีระชัย” ชำแหละแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ส่อผิดพ.ร.บ.วินัยการเงิน ชี้กู้เงินได้ถ้ามีความจำเป็นยิ่งยวดเท่านั้น แย้งหากยึดหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องไม่ลดผู้ได้รับสิทธิ์เหลือ 50 ล้านคน

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีเบื้องหลังประชุมเงินดิจิทัลที่เลขาธิการกฤษฎีกาได้ทักท้วงการออกกฎหมายกู้เงินกันอย่างหนัก เพราะการออก พ.ร.บ.กู้เงินเป็นเรื่องใหญ่

โดยนายธีระชัย ระบุว่า ขอแนะนำเลขาธิการกฤษฎีกา หนึ่ง ต้องพิจารณาเชิงเข้มงวด ถ้าอ่าน พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ส่วนที่ 4 "การก่อหนี้และการบริหารหนี้" อ่านทุกมาตรารวมกัน จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตนาโดยรวม ต้องการให้บริหารประเทศ โดยยึดหลักวินัยในการก่อหนี้อย่างเข้มงวด การเขียนมาตรา 53 นั้น มิใช่เพื่ออำนวยความสะดวกให้รัฐบาลในการก่อหนี้ โดยเขียนมาตรา 53 เปิดช่องให้รัฐบาลสามารถกู้เงินนอกกฏหมายบริหารหนี้สาธารณะได้ เฉพาะถ้ามีความจำเป็นยิ่งยวดจริง มาตราก่อนหน้ามาตรา 53 แสดงเจตนารมณ์ที่ชัด ดังนี้

-มาตรา 49 ย้ำให้การก่อหนี้ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย 

-มาตรา 50 บังคับให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐต้องกำหนดสัดส่วน เพื่อคุมปริมาณหนี้

-มาตรา 51 บังคับให้มีการติดตามสัดส่วนปริมาณหนี้เป็นประจำ

-มาตรา 52 ย้ำให้การกู้เงิน ต้องเป็นไปตามกฏหมายบริหารหนี้สาธารณะ

ดังนั้นการพิจารณาเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53 จึงต้องพิจารณาเงื่อนไขอย่างเข้มงวด ให้เข้าหลักการวินัยการเงินการคลัง

สอง ไม่เข้าเงื่อนไขมาตรา 53 

มาตรา 53 มี 2 เงื่อนไข ที่ต้องปฏิบัติพร้อมกันคือ เงื่อนไขที่ 1 เฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ ผมเขียนไว้ในบทความก่อนหน้าว่าการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งที่ตัวเลขจีดีพี ปี 2023 ประมาณ 2.7-2.8%  คือไม่เดือดร้อนถึงขั้นติดลบมาต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถถือได้ว่าเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศ นอกจากนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลได้โยนหลักการระบบบล็อกเชนซูเปอร์แอพทิ้งถังขยะไปแล้ว ดังนั้นข้ออ้างว่าโครงการนี้จะมีความเร่งด่วนสำคัญ ในการจะยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ก็เป็นอันพับไปด้วย เงื่อนไขที่ 2 ไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน ผมตั้งข้อสังเกตว่า ท่านนายกเศรษฐาทราบถึงการใช้เงินของโครงการนี้ตั้งแต่ต้นปี 2566 แล้ว และพรรคเพื่อไทยยังชี้แจงต่อ กกต. ว่าแหล่งเงินสำหรับโครงการ จะใช้จากงบประมาณเป็นหลัก ดังนั้นรัฐบาลจึงมีเวลาที่จะคิดอ่าน ที่จะเสนอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ทันได้อย่างแน่นอน การจะอ้างว่าไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน อาจถูกสงสัยว่าเข้าข่ายเป็นการจงใจชะลอเวลาเอาไว้ เพื่อจะใช้ช่องทางมาตรา 53 หรือไม่?

ซึ่งกระบวนการงบประมาณนั้น ย่อมมีองคาพยพในการกำกับตรวจสอบที่ครอบคลุมมากกว่าที่จะใส่ไว้ในพระราชบัญญัติเงินกู้เพียงฉบับเดียว และโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้มิได้มีความเร่งด่วน หรือคอขาดบาดตาย จึงสามารถตั้งงบประมาณในปีถัดได้ อีกประเด็นหนึ่งท่านนายกเศรษฐาแถลงข่าวว่า รัฐบาลจะทำการกู้เงินก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ข่าวระบุว่าผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะขัดต่อ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ เพราะต้องมีที่มาชัดเจน ไม่ใช่อยู่ๆจะเอาเงินเข้ามาใส่ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมารองรับ ผมตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลจะใส่เงินลงไปในดิจิทัล Wallet ได้นั้น รัฐบาลจะต้องกู้ให้มีเงินพร้อมอยู่ในมือเสียก่อน การใส่เงินลงไปในดิจิทัล Wallet โดยที่รัฐบาลยังไม่มีเงินนั้น ก็คือรัฐบาลเนรมิตสิทธิการใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ย่อมเข้าข่ายเป็นกระทรวงการคลังออกเงินตราอย่างชัดแจ้ง จะผิดกฎหมายเงินตราแน่นอน

นายธีระชัย ระบุอีกว่า ประเด็นอื่นท่านนายกเศรษฐา แถลงข่าวว่า ปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท คิดเป็นจำนวน 50 ล้านคน อ้างว่าตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ แต่ในข่าวเบื้องหลัง ธปท. และสภาพัฒน์ เสนอให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเดือดร้อนที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคนเท่านั้น จึงน่าเสียดายที่ท่านนายกไปพยายามอ้าง ธปท. และสภาพัฒน์ ในการเบ่งจำนวนขึ้นไปถึง 50 ล้านคน ทั้งนี้เนื่องจากท่านยึดหลักเป็นนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายสวัสดิการ จึงไม่มีเหตุผลที่จะไปลดจำนวนจาก 56 ล้านคน ให้เหลือ 50 ล้านคน เพราะลดลงไปเพียงจิ๊บจ้อย ผมจึงขอให้กำลังใจท่านนายกเศรษฐาอีกครั้งหนึ่ง และเขียนบทความนี้ให้ปรากฏไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่เลขาธิการกฤษฎีกา และข้าราชการกระทรวงการคลัง

TAGS: #เงินดิจิทัล #ดิจิทัลวอลเล็ต #พ.ร.บ.วินัยการเงิน #พรบ.กู้เงิน #ธีระชัย #เงินดิจิทัลวอลเล็ต