72 ปี ‘จิม ทอมป์สัน’ เส้นทางใหม่ ‘Beyond Silk’ สู่แบรนด์ไอคอนิกไลฟ์สไตล์ ระดับโลก

72 ปี ‘จิม ทอมป์สัน’ เส้นทางใหม่ ‘Beyond Silk’ สู่แบรนด์ไอคอนิกไลฟ์สไตล์ ระดับโลก
นับจากวันที่ ‘จิม ทอมป์สัน’ ราชาผ้าไหมไทย หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในผืนป่าประเทศมาเลเซียเมื่อ 67 ปีก่อน ทว่าชื่อเสียงของเขายังคงเป็นที่จดจำมาตลอด 7 ทศวรรษ พร้อมธุรกิจที่ยังคงอยู่

เพื่อเดินหน้าสู่วิสัยทัศน์ใหม่  ‘เป็นมากกว่าแบรนด์ผ้าไหมไทย’ ด้วยเส้นทางและกลยุทธ์ธุรกิจต่างๆ นับจากนี้ไป 

 

แฟรงก์ แคนเซลโลนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมไหมไทย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) ย้อนเส้นทางธุรกิจบริษัทฯ ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2494  โดย ‘จิม แฮริสัน วิลสัน ทอมป์สัน’ สถาปนิกจากนิวยอร์ค และนายทหารสืบราชการลับหน่วย O.S.S. (CIA) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีความหลงใหลในงานผ้าไหมไทย จนต่อยอดมาสู่การทำธุรกิจ ถึงในปัจจุบันเป็นเวลาร่วม 72 ปี

 

จากกาลเวลาที่เปลี่ยนไปถึงในวันนี้ ‘จิม ทอมป์สัน’ ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Beyond Silk’ การมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ไปไกลและมากกว่าการเป็นแบรนด์ผ้าไหมไทย

 

โดยจะครอบคลุมทั้งในกลุ่ม ธุรกิจแฟชัน ธุรกิจสินค้าผ้าตกแต่งบ้าน ไปจนถึงธุรกิจบริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อสานต่อแนวคิดจากจุดเริ่มต้นของผู้ก่อตั้งแบรนด์ ที่ต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทย ก้าวไกลไปในระดับเวทีสากล

 

และเพื่อไปสู่เส้นทาง ‘Beyond Silk’ บริษัทฯ ได้วางแนวทางการทำตลาดเพิ่ม ทั้งการขยายธุรกิจใหม่ การปรับโฉมธุรกิจร้านสาขาเดิม ไปจนถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรธุรกิจสินค้า บริการใหม่ๆ เพื่อทำตลาดร่วมกัน (Collaboration) กับแบรนด์สินค้าต่างๆ อาทิ Panpuri Wellness, การบินไทย, ดีไซเนอร์ผู้มีชื่อเสียงของไทย ฯลฯ

 

กลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใหม่ร่วมกัน อีกทั้งยังช่วยลดทอนอายุของแบรนด์จิม ทอมป์สัน ให้มีความเด็กลง และสดชื่น มากขึ้นอีกด้วย

 

จิม ทอมป์สัน ราชาไหมไทย

 

แลนด์มาร์ค ใจกลางกรุงฯ

 

แฟรงก์  กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯ ลงทุนหลักหลายล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดตัว Jim Thompson Heritage Quarter (จิม ทอมป์สัน เฮอริเทจ ควอเตอร์) บนพื้นที่เกือบ 2ไร่ อาณาจักรไลฟ์สไตล์ครบวงจร ตอบโจทย์ ‘กิน-เที่ยว-ช้อป-ชิล’ ในฐานะแลนด์มาร์คทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวใจกลางเมืองหลวงกรุงเทพฯ  เพื่อเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) การพักผ่อนของนักเดินทางทั่วโลกและชาวไทย

 

 

 

โดย ‘จิม ทอมป์สัน เฮอริเทจ ควอเตอร์’ ประกอบด้วย

  • พิพิทธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน บ้านเรือนไทยโบราณ ที่จิม ทอมป์สัน ได้อาศัยอยู่จริงตลอด 8 ปีในช่วงที่ยังมีชีวิต พร้อมแสดงของสะสมหาชมยาก ที่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ พร้อมนำมาจัดแสดงไม่ต่ำกว่า 200 ชิ้น
  • นิทรรศการ The Evolving World of Jim Thompson Textiles ด้วยเรื่องราวการเดินทางแห่งชีวิตของผู้ก่อตั้ง และเส้นทางผ้าไหมไทย
  • The Iconic Store ร้านค้าผลิตภัณฑ์หลากหลายแบรนด์ พร้อมโซนอาหารและเครื่องดื่มใหม่ในดีไซน์เอกลักษณ์เฉพาะ (Iconic Dusign) ประกอบด้วย
  • ร้านอาหารไทย จิม ทอมป์สัน
  • The O.S.S. Bar บาร์เครื่องดื่ม
  • The O.S.S. Rom ห้องจิบชายามบ่าย
  • Jim’s Terrace คาเฟ่สไตล์ไทย-ทาปา ริมสระระเบียงวิวบ้านไทย 
  • Silk Café คาเฟ่บรรยากาศร่มรื่น
  • Monlight Hall ห้องจัดอีเวนต์อนกประสงค์

โดยปัจจุบัน มีปริมาณผู้เข้ามาเยี่ยมชมหมุนเวียน (Traffic)บ้านจิม ทอมป์สัน ตลอดทั้งปีมากกว่า 320,000 คน โดย 5 อันดับแรกมาจาก อเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน และ เกาหลี

 

 

ทีวี ซีรีย์ สตรีมมิงระดับโลก

 

แฟรงก์ กล่าวว่าภายใน3-5 ปีนับจากนี้ บริษัทยังได้วางแนวทางการทำตลาดใหม่ๆเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ Beyond Silk  อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 100-150 ล้านบาท เปิดตัวคอนเซปต์ สโตร์ (Concept Store) ‘จิม ทอมป์สัน’ ซึ่งปรับปรุงโฉมใหม่จากร้านสาขาแรกของ ‘จิม ทอมป์สัน’ ที่เปิดให้บริการในไทย ย่านถนนถนนสุรวงศ์ กรุงเทพฯ ราวปี 2510 ซึ่งจะยังเป็นต้นแบบร้านสาขา (Flagship Store) อีกด้วย

 

“แผนเริ่มรีโนเวทสาขาในปี 2567 ใช้เวลาราว 6-9 เดือนแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการในไตรมาสสาม หรือ ไตรมาสสี่ในปี 2568” แฟรงก์ เสริม

 

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับพันธมิตร สตูดิโอ ผู้ให้บริการคอนเทนต์ สตรีมมิง ฯลฯ เพื่อผลิตรายการทีวี ซีรียส์ บอกเล่าเรื่องราว เส้นทางชีวิต ธุรกิจของ จิม ทอมป์สัน เพื่อสตรีมไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้ชมทั่วโลก โดยแผนฯ ดังกล่าวพร้อมเปิดตัวในปี 2568   

 

ขณะเดียวกัน บริษัทยังวางแผนขยายธุรกิจในกลุ่มฮอสพิทาลิตี (Hospitality) ทั้งธุรกิจโรงแรม และ ที่พักอาศัย จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson Hotel and Residence) และ เมซง จิม ทอมป์สัน (Maison Jim Thomson) โดยอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันฝ่ายต่างๆเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในด้านวิจัยการตลาด ด้วยจะเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท คาดเห็นความชัดเจนใน 5 ปี นับจากนี้

 

 

ปีแห่งการกลับมามีกำไร

 

แฟรงก์  กล่าวว่า จากนี้ไปบริษัทยังวางแผนขยายการทำตลาดในเอเชีย และ ตะวันออกกลาง ปัจจุบัน ธุรกิจแฟชัน จิม ทอมป์สัน มีลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมในสาขาต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านราย (2566) โดย 3 อันดับสินค้าแรกที่ได้รับความนิยม คือ เสื้อผ้าผู้หญิง 27% ผ้าพันคอ 22% และเสื้อผ้าผู้ชาย 16%

 

กลุ่มสินค้าผ้าตกแต่งบ้าน (Home Furnishings) ปัจจุบันมีเครือข่ายจัดจำหน่ายสินค้าผ้าตกแต่งในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก และได้ก่อตั้งอีก 2บริษัทใน สหรัฐอเมริกาในปี 2554 และในสหราชอาณาจักร ในปี 2558 มีโชว์รูม 5 แห่ง ในกรุงเทพฯ ลอนดอน นิวยอร์ค แอตแลนตา และ ปารีส  

 

รวมถึงในทวีปอเมริกาเหนือ มีโชว์รูมทั้งสิ้น 22 แห่ง และยังจำหน่ายสินค้าใน 28 ประเทศ ในยุโรป

 

โดยปัจจุบัน จิม ทอมป์สัน เปิดให้บริการ 25 สาขา และมีโรงงานผลิตสินค้า 3 แห่งในไทย พร้อมวางเป้าหมายขยายเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30-35 สาขาในอนาคต       

 

สำหรับ ผลดำเนินธุรกิจบริษัทในปีนี้ จะมุ่งให้ความสำคัญในการสร้างกำไรคืนกลับมายังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกด้านทั้งฝ่ายบริหาร ผู้ถือหุ้น ชุมชนท้องถิ่น โดยปี 2566 จะเป็นปีแรกที่บริษัท กลับมามีกำไรเติบโตมากกว่าในช่วง 3 ปี(2560-2562) และมีรายได้เติบโตถึง 50% เทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา โดยในปี 2567 จะสามารถทำกำไรเติบโตในอัตราสองหลัก

 

ปัจจุบัน มีสัดส่วนรายได้ 2ใน3 มาจากกลุ่มธุรกิจแฟชันไลฟ์สไตล์ และ 1ใน3 มาจากสินค้ากลุ่มผ้าของใช้ของตกแต่งบ้าน

 

จากแนวทางดังกล่าว จะเป็นโรดแมปให้แบรนด์ ‘จิม ทอมป์สัน’ เดินหน้าไปสู่เส้นทางไอคอนิก ไลฟ์สไตล์ ระดับโลก ได้ไม่ยาก

TAGS: #จิม #ทอมป์สัน #JimThompson #ราชาไหมไทย