ยุทธวิธี 'คาเฟ่ อเมซอน' ในสงครามกาแฟ ‘กัมพูชา’ แผนรักษาเบอร์ 1 แม้มีแบรนด์แข่งน้อยราย แต่แข็งแรงมาก

ยุทธวิธี 'คาเฟ่ อเมซอน' ในสงครามกาแฟ ‘กัมพูชา’ แผนรักษาเบอร์ 1 แม้มีแบรนด์แข่งน้อยราย แต่แข็งแรงมาก
หลังจาก บริษัท บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ (OR) ในกลุ่ม ปตท. ได้เข้ามาทำธุรกิจหลัก ในประเทศกัมพูชา ด้วยโมเดลแแบเดียวกับที่ประสบความสำเร็จในไทย 

ทั้งการทำสถานีบริการน้ำมัน ปตท. (PTT Station) ควบคู่ร้านกาแฟ อเมซอน (Cafe Amazon ) ตั้งแต่ปี 2013 โดย ปตท ได้เข้ามาในตลาดนี้ตั้งแต่ 28 ปีก่อน ไล่เลี่ยกับการทำตลาดใน สปป. ลาว เมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมา

ณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) ย้อนเส้นทางธุรกิจร้านกาแฟ ’คาเฟ่ อเมซอน’ (Café Amazon)  ในตลาดประเทศกัมพูชา ที่ผ่านมาร่วม 10 ปีแล้วในตอนนี้ มีจำนวนร้าน 231 สาขากระจายในเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นเพียง 3 จังหวัด คือ ไพลิน,  พระวิหาร และ อุดรมีชัย)

จากระยะเวลาการทำธุรกิจมานานร่วมทศวรรษ ทำให้คาเฟ่ อเมซอน เป็นที่จดจำในกลุ่มผู้บริโภคชาวกัมพูชาได้เป็นอย่างดี ในฐานะ ‘เบอร์หนึ่ง’ ทั้งด้านจำนวนสาขาในธุรกิจร้านกาแฟในกัมพูชา  และจากจำนวนยอดขายเฉลึ่ยไม่ต่ำกว่า 220 แก้วต่อสาขา

เรียกได้ว่า อเมซอน คือ พี่ใหญ่ในตลาดร้านกาแฟ กัมพูชา

และด้วยความที่เป็นแบรนด์ใหญ่และมีอายุมานานร่วมทศวรรษ จากการเติบโตมาพร้อมกับคนกัมพูชาในยุคกว่า 10 ปีก่อน ทึ่ในเวลานี้กลายมาเป็นคนในวัยทำงาน ด้วยวัยที่ล่วงไปมากกว่า 30-40 ปึ ตามขึ้นไปด้วย

ขณะที่ตลาดธุรกิจร้านกาแฟของที่นี่เอง ก็เปลี่ยนแปลงไปมากจากการขยายตัวของธุรกิจร้านกาแฟแบรนด์ท้องถิ่นที่มีอยู่ ล้วนต่างเข้าหาผู้บริโภคคนรุ่นใหม่กัมพูชาที่มองหาแบรนด์ร้านสดใหม่ ให้ความว้าว! โดนใจกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ มากขึ้น

ดึง ‘ดุสิต ฟู้ด’ เปิดคอนเซปต์สโตร์แห่งแรก

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ OR กัมพูชา ไม่สามารถอยู่เฉยได้แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องขยับตัวใหญ่แบรนด์ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายชาวกัมพูชารุ่นใหม่ๆ ได้มากขึ้น

และ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การเปิดร้านสาขา ‘คาเฟ่ อเมซอน’ ภายใต้แนวคิด ‘คอนเซปต์ สโตร์’ (Concept Store) เป็นแห่งแรกในเมืองหลวง จังหวัดพนมเปญ  ซึ่งร้านจะมีพื้นที่ขนาดราว 2,000 ตารางเมตร ใหญ่กว่าสาขาปกติที่เปิดให้บริการทั่วไป ที่มีขนาด 150-200 ตารางเมตร

โดยสาขาอเมซอน คอนเซปต์สโตร์ แห่งนี้ ยังได้ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจจากไทยที่แข็งแกร่งด้านธุรกิจบริการอาหาร ‘ดุสิต ฟู้ด’ (Dusit Food)  มาเสริมความครบด้านบริการเมนูมื้ออาหาร (Meal) และ เบเกอรี เพื่อดึงทราฟฟิกลูกค้ามาใช้เวลาในร้านสาขาอเมซอนในช่วงมื้ออาหารระหว่างวัน และยังได้อัตราค่าใช้จ่ายต่อบิลต่อหัวเพิ่มมากขึ้น อีกด้วย

จากเดิมที่ส่วนใหญ่ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ จะได้กลุ่มลูกค้าเข้ามาใช้บริการหลังมื้อเที่ยง ที่แวะเข้ามาในร้าน เพื่อซื้อเครื่องดื่มในร้านเท่านั้น!! ขณะที่ร้านกาแฟคู่แข่ง จะมีบริการอาหาร ของทานเล่น ให้บริการภายในร้านเพื่อรองรับลูกค้าได้ตลอดทั้งวัน    

โดยคาเฟ่ อเมซอน’ สาขาใหม่แห่งนี้ จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท คาดพร้อมเปิดให้บริการในปี2567 และเมื่อแล้วเสร็จร้าน ‘คาเฟ่ อเมซอน คอนเซ็ป สโตร์’ ดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งรวม ของคนรุ่นใหม่ นักศึกษา วัยทำงาน ทั้งคนท้องถิ่นในประเทศ นักท่องเที่ยว ที่มาพักผ่อน นั่งติวหนังสือ หรือ ทำงาน ต่างๆ เสมือนเป็นพื้นทึ่ผ่อนคลายร่วมกันได้

คาเฟ่ อเมซอน ไดรฟ์ทรู กัมพูชา

แฟล็กชิป สโตร์ สถานีบริการน้ำมัน ปตท. และ ไดรฟ์ ทรู คาเฟ่ อเมซอน เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา 

เพิ่ม 20 สาขาใหม่ทุกปี

ณัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากกลยุทธ์ การรีเฟรชแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ภายใต้แนวคิด ‘คอนเซปต์ สโตร์’ แล้ว บริษัทฯ ยังวางแผนขยายสาขาใหม่เพื่มขึ้นต่อเนื่องปีละ  20 สาขาต่อปี

โดยการขยายสาขาในกัมพูชา จะอยู่ในรูปแบบ

1. บริษัท ลงทุนเองขยายธุรกิจเอง สัดส่วน 10%

2. ดีลเลอร์ แฟรนไชส์ สัดส่วน 90%

(ค่าแฟรนไชส์ในกัมพูชา คิดอัตราเดียวกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ในไทย)

ด้วยจากนี้ไป บริษัทฯ จะใช้กลยุทธ์การขยายสาขาเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่มากขึ้น  คาดว่าในปึ2567 อเมซอน จะมีสาขาให้บริการร้าน ได้ทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 250 สาขา  ถือเป็นการกลับมาเร่งสปีดธุรกิจ อีกครั้ง

หลังชะงักไปชั่วขณะจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเปิดสาขาใหม่ได้

ปัจจุบันสาขาอเมซอน คาเฟ่ ทั้ง 231 สาขาแบ่งสัดส่วน 60% อยู่ในเมืองพนมเปญ และอีก 40% อยู่ในอีก 21 จังหวัด (กัมพูชา มี25 จังหวัด)

ความท้าทายตลาดร้านกาแฟ

ขณะที่ ภาพรวมตลาดร้านกาแฟในกัมพูชา ปัจจุบัน แม้จะยังไม่สามารถระบุได้ชัดถึงจำนวนสาขา หรือ มูลค่าตลาดธุรกิจร้านกาแฟได้ก็ตาม แต่ก็พบว่าธุรกิจคาเฟ่ หรือ ร้านกาแฟ ที่นี่ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องของผู้บริโภคชาวกัมพูชาคนรุ่นใหม่

เห็นได้จาก เทรนด์การขยายธุรกิจของร้านกาแฟแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) ที่มีความแข็งแรงในตลาด อย่างร้านกาแฟแบรนด์ทิวบ์ (TUBE) แม้จะมี 40 สาขา แต่ทว่าในเวลานี้ แต่ก็ถือเป็นแบรนด์คู่แข่ง ที่เข้ามาท้าทาย คาเฟ่ อเมซอน คาเฟ่ ไปไม่น้อย ด้วยอยู่ในตำแหน่งทางการตลาดเดียวกัน คือ เจาะกลุ่มเป้าหมายรายได้ ระดับกลาง-บน (Middel-Upper Income)

ส่วนเชนร้านกาแฟ รายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา อย่าง สตาร์บัค (Starbuck) ก็มีราว 40 สาขา ซึ่งวางตำแหน่งการตลาดอีกระดับ มีคู่แข่งสำคัญอย่างร้าน  บราวน์ (Brown) ซึ่งก็เป็นแบรนด์ร้านกาแฟท้องถิ่น ของกัมพูชา อีกเช่นกัน

“กำลังซื้อกัมพูชา มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง คือ ระดับล่าง และไประดับบนที่มีกำลังซื้อสูงมากๆใปเลย มีอาชีพรับราชการ ประกอบธุรกิจ ส่วนกลุ่มคนรายได้ปานกลางยังมีไม่มากนัก“ ณัฐพงศ์ กล่าว

ขณะที่ ราคาสินค้าทุกเมนูของ คาเฟ่ อเมซอน ในกัมพูชา จะสูงกว่าในไทย ราว 20% อย่าง กาแฟดำ (Black Coffee) แก้วร้อน มีราคาเริ่มต้นที่ 1.25 ดอลลาร์สหรัฐ (ในไทย 45 บาท) ด้วยเป็นการนำเข้าสินค้าทั้งหมด ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นราว 20-30%  เช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆในกัมพูชา เว้น กลุ่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ ยาสูบ

สำหรับ คาเฟ่ อเมซอน สาขาเมืองพนมเปญ จะมียอดขายดีที่สุดเฉลี่ยมากกว่า พันแก้วต่อวัน รองลงมา คือ เมืองสีหนุวิลล์ เฉลี่ยราว 900 แก้วต่อวัน ซึ่งรวมยอดขายในช่องทางสั่งซื้อออนไลน์ ด้วย

"รสชาติของกาแฟ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านกาแฟอเมซอน ยังเป็นที่ชื่นชอบของคนกัมพูชา ด้วยรสชาติที่หนักแน่น มีความหวาน มัน แตกต่างไปจากแบรนด์เจ้าอื่นของที่นี่" กล่าว

ส่วนเมนูยอดนิยมยืนหนึ่งของ อเมซอน คาเฟ่ ในกัมพูชา คือ กาแฟดำ (Black Coffee) รองลงมา จะเป็นกลุ่ม นอน-คอฟฟี (Non-Coffee) ทั้ง ช็อคโกแลต และ ชาเขียว

สงครามกาแฟ ยังมีอยู่

ณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่ ‘กัมพูชา’ ถูกวางตำแหน่งให้เป็น ‘บ้านหลังที่2’ ฐานที่มั่นทางธุรกิจตลาดสำคัญของโออาร์ ตามนโยบายบริษัทแม่ โดยทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งกลุ่มน้ำมัน และ นัน-ออยล์ จะต้องพัฒนาให้เติบโตควบคู่ไปพร้อมกับชุมชนท้องถิ่นในประเทศด้วย

โดยเฉพาะในธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งถือเป็นแบรนด์ต่างชาติ (จากไทย) ที่เข้ามาทำตลาดที่นี่ ซึ่งยังต้องมีการแข่งขันภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง "ด้วยกัมพูชาในเวลานี้ สงครามกาแฟยังมีอยู่ ที่แม้ว่าจะมีแบรนด์น้อยกว่า แต่ว่าดุเดือดมาก"

ดังนั้น การปรับตัวธุรกิจให้ทันสมัย เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคของคนท้องถิ่นอยู่เสมอ จะทำให้ ‘คาเฟ่ อเมซอน’  ยังรักษาความเป็นเบอร์หนึ่ง และมัดใจชาวกัมพูชาให้ได้นานที่สุด

TAGS: #ปตท. #โออาร์ #OR #คาเฟ่ #อเมซอน #Amazon