กกพ.แจงผลรับฟังความเห็นค่าเอฟทีงวด ม.ค.-เม.ย. 67 คนส่วนใหญ่เลือกแนวทางขึ้นค่าเอฟทีอัตราต่ำสุด ชี้ปรับตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นแ
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) และมีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์(สต.)ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สต.ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
การพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 นี้ ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ กฟผ.เป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่กฟผ.รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น
ปัจจุบันสถานการณ์ราคา LNG ในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นตามความต้องการใช้ LNG ที่เพิ่มมากขึ้นตามสภาพฤดูหนาวในยุโรปและส่งผลให้การประมาณการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในรอบ ม.ค.- เม.ย. 67 เพิ่มขึ้นเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วยซึ่งสะท้อนปริมาณการนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยสำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นใน 3 กรณี ตั้งแต่ 10 – 24 พฤศจิกายน 2566
ที่ผ่านมาประกอบไปด้วย กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. - เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย.
และกรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
.