แผนใหม่ ‘เบอร์เกอร์คิง’ มุ่งสู่ 'ไลฟ์สไตล์ แบรนด์' กวนลูกค้าไทยให้หนัก แล้วชิงแชร์คู่แข่ง!!

แผนใหม่ ‘เบอร์เกอร์คิง’ มุ่งสู่ 'ไลฟ์สไตล์ แบรนด์' กวนลูกค้าไทยให้หนัก แล้วชิงแชร์คู่แข่ง!!
ปี 2567 ‘เบอร์เกอร์คิง’ มุ่งสู่ ‘ไลฟ์สไตล์ แบรนด์ ทำตลาดผ่านไอเทมของที่ระลึกคอลเล็กชันต่างๆ สร้างความสนิทใจลูกค้าคนไทยมากขึ้น รับตลาด QSR ปีหน้าแข่งสนุก 2 โลก ออนไลน์-ออฟไลน์

 

เจริญชัย บำรุงวงศ์ทอง’ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่านับจากปี 2567 เป็นต้นไป เบอร์เกอร์ คิง ประเทศไทย จะมุ่งสู่การเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์สินค้ามากขึ้น ด้วยการใช้การออกแบบ (Design)ใหม่ๆ ร่วมกับแบรนด์เบอร์เกอร์คิงในกลุ่มสินค้าของที่ระลึก (Premium) สินค้าของเก็บสะสม (Collection) ไปจนถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Product) ต่างๆมากขึ้น

แนวทางดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสื่อสารการตลาด เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภคลูกค้าคนไทยที่มีต่อแบรนด์เบอร์เกอร์คิงให้มากขึ้น จากปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยมีการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ราว60% หลังเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นเวลาร่วม 23 ปีแล้ว

“เบอร์เกอร์คิงในต่างประเทศ มีการนำแบรนด์ไปใช้ร่วมกับสินค้าไลฟ์สไตล์อื่นๆด้วยเช่นกัน ส่วนในไทยเองก็ได้เริ่มใช้ในปีนี้ไปบ้างแล้ว อย่างร้านคอนเซปต์ สโตร์ เบอร์เกอร์คิง สาขารัชดาภิเษกคอลเล็บฯกับโซนี่ พิคเจอร์ส ในธีมสไปเดอร์แมนมาใช้ในการตกแต่งร้านสาขา เป็นต้น”  

นอกจากนี้ในปี2567 เบเกอร์คิง ยังเตรียมออกผลิตภัณฑ์เมนูใหม่และแคมเปญตามฤดูกาลพิเศษ รวมถึงการนำสินค้าที่ได้รับความนิยมกลับมาทำตลาดใหม่ (Relaunch) รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 20 รายการ นอกเหนือจากเมนูหลักในตลาด กลุ่มเบอร์เกอร์ และนอน-เบอร์เกอร์

ล่าสุดในช่วงท้ายปี2566 ‘เบอร์เกอร์คิง’ ได้เปิดตัวแคมเปญ ‘โบโลเนส คอลเลคชัน’ (Bolognese Collection) นำซอสโบโลเนสขึ้นชื่อของประเทศอิตาลี มาเป็นส่วนประกอบใน 3เมนูอาหาร คือ เบอร์เกอร์ไก่ชิ้นยาวแดง ดับเบิ้ลเบอร์เกอร์เนื้อซอสแดง และเฟรนช์ฟรายด์ชีส ซอสแดง ในราคาเริ่มต้น 99 บาท เพื่อร่วมเทศกาลเฉลิมฉลองแห่งความสุข และต้อนรับนักท่องเทียวต่างชาติที่เดินทางมาไทย   

เจริญชัย เสริมว่าในปี2566 เบอร์เกอร์คิงได้เปิดตัวเมนูใหม่และนำเมนูเดิมมาทำตลาดใหม่ เพื่อสร้างสีสันในตลาดมากกว่า 20 เมนูเพื่อรองรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสาขาร้าน ปัจจุบันเบอร์เกอร์คิงมีกลุ่มลูกค้าชาวไทยสัดส่วน 80% และต่างชาติ 20% นับตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา จากก่อนหน้ากลุ่มลูกค้าต่างชาติ 60% และคนไทย 40%

“ฐานลูกค้าสัดส่วนดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เบอร์เกอร์คิงในไทย หันมาให้ความสำคัญในการทำตลาดท้องถิ่น (Local Marketing) ด้วยกลยุทธ์การตลาดและการทำสินค้าเมนูพิเศษในตลาดออกมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภคคนไทย ทั้งในช่องทางออนไลน์ และ ออฟไลน์ ไปพร้อมกัน”

โดยเบอร์เกอร์คิง ยังวางแผนปรับลดค่าใช้จ่ายต่อบิลให้ลงมา จากปัจจุบันอยู่ที่ 290บาท/บิล (รวมช่องทางเดลิเวอรี) เพื่อเพิ่มความถี่การใช้บริการให้มากขึ้นในทุกช่องทางในอนาคต พร้อมรองรับการกลับมารับประทานอาหารภายในร้าน (Die-in) ของผู้บริโภคคนไทย ที่มากขึ้นในภาพรวมด้วย

‘Data Driven’ พลังข้อมูลล้วงลึกลูกค้า

ด้าน ‘ชนินทร์ นาคะรัตนากร’ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดดิจิทัล บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าตลาดบริการอาหารด่วน หรือ คิวเอสอาร์ (QSR; Quick Service Restaurant) ในปี2567 ผู้ให้บริการแบรนด์ร้านอาหารในตลาดเดียวกัน จะแข่งขันรุนแรงมากขึ้นจากการฟังเสียงผู้บริโภคในช่องทางสื่อสังออนไลน์ (Social Listening) แพลตฟอร์มต่างๆ  มาใช้เป็นฐาน​ข้อมูลหลักเพื่อผลักดันการทำตลาด (Data Driven)

ขณะที่เบอร์เกอร์คิง ประเทศไทย ได้นำเครื่องมือดังกล่าวมาปรับใช้การทำตลาดทั้งในออนไลน์ และหน้าร้าน (Physical) ผ่านเมนูสินค้าใหม่ๆ โดยมีเมนูไฮไลท์ ตลอดปี2566 ที่ผ่านมา อาทิ   

  • เบอร์เกอร์คิง ช็อคโกแลตคิง (เบอร์เกอร์และ Hershey's ช็อกโกแลตระดับพรีเมียม)
  • พายเฮอร์ชี่ส์ Burger King (นำกลับมาขายใหม่)
  • แคมเปญ ชีส เบอร์เกอร์ 100 แผ่น
  • แคมเปญ เรียล มีท เบอร์เกอร์
  • ‘ไก่ทอด หาดใหญ่’ เมนูใหม่
  • ‘แบล็ค แอนด์ พิงค์ เบอร์เกอร์’ (Black and Pink Burger) (นำกลับมาขายใหม่)

ชนินทร์ กล่าวว่า “เมนูใหม่ ‘โบโลเนส คอลเลคชัน’ เป็นอีกหนึ่งไอเทมสินค้าที่เบอร์เกอร์คิง ได้ฐานข้อมูลจากความต้องการผู้บริโภคในแพลตฟอร์สื่อสังคมออนไลน์ ว่าต้องการให้เรา ทำสินค้าใหม่ออกมาด้วยชื่ออะไร จนได้ข้อสรุปชื่อเมนูโบโลเนสซอสในภาษาไทยว่าเป็นซอสแดง

“เราเปิดฟังความเห็นผู้บริโภคในสังคมออนไลน์ พร้อมสร้างเอ็นเกจเมนต์กับลูกค้าว่า เมื่อช่วยกันตั้งชื่อซอสแดงออกมาแล้วต้องรับผิดชอบด้วยการไปกินด้วยนะ ซึ่งก็เป็นกิมมิคให้ลูกค้าจากออนไลน์มีส่วนร่วมเพื่อไปสู่หน้าร้านได้”

นอกจากนิ้ เบอร์เกอร์คิง ยังวางคาแรกเตอร์แบรนด์ผ่านการโต้ตอบของทีมแอดมินบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยบุคลิกสนุกๆ มีความกวน ขี้แล่น เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายกับผู้บริโภคชาวไทย ที่แม้ว่าจะเป็นการใช้ดาตา ดริฟเว่น แต่ก็ยังต้องมีความความเป็นมนุษย์ในการทำตลาด (Humanize)ไปพร้อมกัน

จากแนวทางการทำตลาดภายใต้กลยุทธ์เบอร์เกอร์คิง ดังกล่าวทำให้ตลอดทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตรายได้สูงกว่า20% หรือกว่า 2,400 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนยอดขาย กลุ่มเบอร์เกอร์ 70% นอน-เบอร์เกอร์ 30% 

โดยในปี2567 เบอรฺเกอร์คิง วางแผนเปิดอีก 5 สาขาใหม่ จากในปีนี้มี 104 สาขาและหากรวมสาขาสนามบินมีทั้งหมด 123 สาขา พร้อมวางเป้าหมายเติบโตอัตรา 2 หลัก ต่อเนื่อง

 

 

TAGS: #เบอร์เกอร์คิง #BurgerKing