ดีเดย์ 1 ม.ค. 67 ออกแพคเกจกระตุ้นลงทุน EEC

ดีเดย์ 1 ม.ค. 67 ออกแพคเกจกระตุ้นลงทุน EEC
EEC เดินหน้าดึงลงทุน 3 จังหวัด ออกมาตรการชุดใหม่ จูงใจต่างชาติย้ายฐานมาไทย ปลดล็อคเงื่อนไขแรงงานให้วีซ่าสูงสุด 10 ปี ตั้งเป้าดันจีดีพีจังหวัดโต

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC  ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ  สำนักข่าว The Better ถึง แผนการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หรือ Eastern Economic Corridor.(EEC) ซึ่งเป็นโครงการต่อยอดพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปี หรือที่เรียกว่า อีสเทิร์นซีบอร์ด โดยมีความตั้งใจพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ ทั้งทางกายภาพและทางสังคม เพื่อเป็นการยกระดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาบทบาทของ EEC จะให้ความสำคัญกับงานพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ส่งไปถึงสังคมและชุมชน เป็นโจทย์ของเรา ว่า การพัฒนาเริ่มจากการลงทุนและทำให้การลงทุนเกิดการเงินหมุนในพื้นที่ แต่การลงทุนที่ผ่านมา ต้องเริ่มจากการสร้างระบบนิเวศน์  สิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนสนใจและเข้ามาก่อน 

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีแรก มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ  ทั้งโครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้เห็นว่ามีระบบสาธารณูปโภคให้ครบ

 

ส่วนหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนจะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพื่อคอยสนับสนุนออกมาตรการให้สิทธิประโยชน์ เปิดโอกาสให้มีการเข้ามาลงทุน ดังนั้นตัวเลขการลงทุนที่เกิดขึ้นใน EEC ทั้ง 3 จังหวัด จะได้รับการรายงานจากบีโอไอ

สำหรับในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. เป็นต้นไป จะเป็นปีแรกที่ EEC จะวางบทบาทเป็นหน่วยงานที่ชักชวนการลงทุน ใน อุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ 12 ด้าน  ในพื้นที่ 3 จังหวัด  พร้อมกับมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าเทียบกับ บีโอไอ จะดูแลเรื่องการลงทุนและสิทธิประโยชน์ การออกบัตรส่งเสริมลงทุนจบตรงนั้น ขณะที่อีอีซีจะมีหน้าที่ที่มากกว่านั้น คือ ทำอย่างไรให้เงินที่ลงทุนที่เกิดขึ้นมีผลต่อเนื่องไปถึงการเติบโตของจังหวัดด้วย

“ปีหน้าจะมีนักลงทุนเข้ามามากขึ้น หลังจากมีการเปิดตัวแพคเกจกระตุ้นการลงทุนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 โดยเป็นการให้สิทธิโยชน์ตามกฏหมายอีอีซี เพราะที่ผ่านมายังใช้สิทธิประโยชน์ของบีโอไอ  สิ่งที่น่าสนใจคือ การให้สิทธิประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะกับตัวบริษัทอย่างเดียว แต่จะสร้างความน่าสนใจในเรื่องของการทำงานในประเทศไทยที่สบายกว่าประเทศอื่น มีความสุขในการทำงาน”

แม่เหล็กที่จะสามารถดึงการลงทุนได้ ต้องอาศัยสิทธิประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่ภาษี  คือ EEC Visa ให้กับกลุ่มคนประเภทอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษสูงสุด 10ปี  อนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้

รวมถึงคู่สมรสและผู้ติดตาม ประเภท Other : EEC Visa “O” โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น EEC Work permit อัตโนมัติ , เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราคงที่ 17% , อายุ VISA สูงสุด 10 ปี ตามระยะเวลาตามสัญญาจ้างใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เป็นต้น

เลขาธิการ EEC กล่าวว่าการให้วีซ่าเพิ่มกับกลุ่มคนทำงาน จะทำให้คนที่ตัดสินใจลงทุนสามารถจ้างงานได้ง่ายขึ้น  ไม่เฉพาะต้องเป็นเชื้อชาติเดียวกับบริษัทที่ลงทุน  หากคุณมาลงทุนในไทยสามารถจ้างใครก็ได้มาทำงานที่จะทำให้เกิดความสบายใจเมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างเวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์แล้ว ประเทศไทยมีครบมากว่า มีงานที่ดี มีสถานที่ท่องเที่ยว คล้ายกับซอฟพาวเวอร์ แต่เอาซอฟไซค์มาดึงคนมาลงทุน  ถ้าดึงนักลงทุนได้แบบนี้จะทำให้มีคนเก่งๆเข้าทำงานในบ้านเราเยอะขึ้นซึ่งคนเหล่านี้มีรายได้ดี  มีกำลังจับจ่ายใช้สอยส่งผลต่อการท่องเที่ยว  มีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนมีรายได้ 

ปัจจุบันพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดมีประชากรอยู่ 3 ล้านคน แต่มีประชากรแฝงที่มาทำงาน 1.6 ล้านคน  การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำงานในอีอีซีจะไม่เกิดปัญหาการแย่งแรงงานคนไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มคนทำงานในอุตสาหกรรมชั้นสูง  และการเข้ามาลงทุนจะมีการเจรจาสิทธิประโยชน์  ซึ่งต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะมีคนมาทำงานจำนวนเท่าไหร่ เพื่อพิจารณาโควตาวีซ่าให้จำนวนกี่ปีตามความเหมาะสม

“นอกจากนี้อีอีซียังอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาต 14 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เช่น ใบรง.4   การจดทะเบียนเครื่องจักร   การก่อสร้างโรงงาน เรียกว่าการเจรจานักลงทุนแต่ละราย มาที่นี่ครบจบแน่  ไม่ต้องใช้เวลานานในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเชื่อว่าหลังเปิดตัวแพคเกจลงทุนของเราแล้ว ในช่วง 3 เดือนจะเริ่มเห็นการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยที่เพิ่มขึ้นแน่นอน”

อย่างไรก็ตามรูปแบบการส่งเสริมการลงทุนจะขึ้นอยู่กับการเจรจาแต่ละรายไป โดยพิจารณาสิทธิประโยชน์ ควบคู่ไปกับเม็ดเงินที่จะนำมาลงทุน เกิดการจ้างงานแค่ไหน ซึ่งแพคเกจที่ทำบางเรื่องอาจไม่ได้จากบีโอไอ   ในหลักการสิทธิประโยชน์อาจไม่ถึงกับต่างกันมาก เพราะเป็นเรื่องสิทธิที่ให้กับคนนอก

 

สำหรับทีมที่จะไปชักชวนนักลงทุน จะไม่ใช่วิธีเดิมๆที่ไปพูดกว้างๆในแต่ละประเทศ แต่จะใช้วิธีเจาะเป็นรายอุตสาหกรรม และเจาะกลุ่มนักลงทุนโยตรง เป็นการทำตลาดแบบพุ่งเป้าอาจต้องใช้เครือข่ายของหอการค้าแต่ละประเทศควบคู่ไปด้วย  โดยประเทศเป้าหมายแรกที่จะไปดึงการลงทุนคือ ญี่ปุ่น ภายในเดือนม.ค. 2567

ส่วนนักลงทุนต่างชาติอื่นๆ ที่น่าสนใจ คือ จีน ไต้หวัน เนเธอร์แลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศล และ สหรัฐ  โดยเฉพาะขณะนี้จีนเป็นนักลงทุนที่  Walk in  เข้ามา เพราะอยู่ในช่วงการขยายฐาน การผลิตอุตสาหกรรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งต้นน้ำของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานสมัยใหม่ ถ้าดึงกลุ่มทุนเหล่านี้มาได้เชื่อว่าจะมีนักลงทุนอื่นๆตามมา

ทาง EEC มองเม็ดเงินการลงทุนที่จะเกิดขึ้นไว้ปีละ1 แสนล้านบาท  ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตั้งไว้ว่าจะมีการลงทุน ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีมูลค่าลงทุนที่เกิดขึ้น 2 ล้านล้านบาท   แต่เมื่อไปเก็บตัวเลขที่มีการลงทุนจริงเฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้านบาท  ดังนั้นปี2567 วางตัวเลขไว้ 1 แสนล้านบาทหรือเพิ่มอีก 40%   ซึ่งเป็นเงินลงทุนจริงไม่ใช่แค่เอาโปรเจ็คมาลง โดยต้องการให้เงินลงทุนที่เกิดขึ้นมาช่วยหมุนเศรษฐกิจในจังหวัดจาก 7 หมื่นบาทมาเป็น 1 แสนล้านบาท  หรือมีผลต่อการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) ของจังหวัดให้ได้เฉลี่ยปีละ  6.3%

นายจุฬา กล่าว่า ภาพรวมประเทศไทยยังมีศักยภาพและความน่าสนใจลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างพื้นฐานเรายังดี มีความพร้อมต่อการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับเวียดนามสามารถแข่งขันได้ เพราะสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการทำงานในไทยมากกว่า  แต่บางอย่างที่ต้องเตรียม คือการจัดหาไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด ซึ่งในเวียดนามไม่มี เพราะพลังงานสะอาดกลายเป็นเงื่อนไขของการตัดสินใจลงทุนของบางบริษัท เช่นค่ายรถยนต์Tesla ระบุว่าในไลน์การผลิตรถยนต์ต้องมาจากพลังงานสะอาดเท่านั้น

 

 

 

TAGS: #EEC #กระตุ้นลงทุน #วีซ่า10ปี