หนุนนิคมฯอุดรธานีเขตเศรษฐกิจพิเศษ จูงใจลงทุนเชื่อมการค้า CLMVT

หนุนนิคมฯอุดรธานีเขตเศรษฐกิจพิเศษ จูงใจลงทุนเชื่อมการค้า CLMVT
กนอ.ตอบรับแนวคิดเพิ่มนิคมอุดรธานีเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จูงใจลงทุนในพื้นที่เปิดประตูการค้า CLMVT เตรียมหารือBOI และกรมศุลกากร หาข้อสรุป

นายวีริศ  อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากการร่วมประชุมหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 จังหวัดอุดรธานี ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการประกอบกิจการ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ. ได้ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ ให้ยกระดับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC เทียบเท่าเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ในยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นประตูสู่ประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้อีกด้วย

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกิจการ A4 (กิจการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย) ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI ตามประเภทกิจการ ซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากได้รับการยกระดับให้เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ NeEC ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอีก 5 ปี รวมเป็น 8 ปี

นอกจากนี้ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่กว่า 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ logistic park ในระยะที่ 1 ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า และขออนุญาตจัดตั้งโรงพักสินค้าพร้อมลานกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อบรรจุและตรวจปล่อยสินค้าขาเข้าและขาออก ระยะที่ 2 ขออนุญาตจัดตั้งเขตศุลกากร พร้อมลานฝากตู้คอนเทนเนอร์ภายในประเทศ Inland Container Depot : ICD ที่สามารถเชื่อมระบบรางเข้ามาภายในพื้นที่เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางรางเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตามนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาด สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันยังเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน จึงเป็นโอกาสดึงดูดนักลงทุนจากในประเทศและต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในนิคมฯ มากขึ้น และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ การขอให้นิคมฯอุดรเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ถือว่าเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะนวัตกรรม ICD Logistic Park ที่น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กนอ.จะประสานกับ BOI และกรมศุลกากรให้  ซึ่งการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์จะเป็นแรงจูงในการดึงดูดการลงทุนในพื้นที่  ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ต่อไป”

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ ดำเนินการโดย บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ปัจจุบันมีลูกค้า 8 ราย พื้นที่ประมาณ 145 ไร่ ประเภทกิจการ ได้แก่ 1.ผลิตอาหารแปรรูป (ไตปลา,ปลาร้าต้มสุก) 2.คลังสินค้า คลังสินค้าแช่เย็น 3.ศูนย์จัดเก็บและกระจายสินค้า  4.โรงพักสินค้า (Warehouse) 5.สร้างโรงงานมาตรฐานให้เช่า และ 6.ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ รวมถึงชิ้นส่วนโลหะและผลิตภัณฑ์พลาสติก หรือเคลือบด้วยพลาสติก

 

TAGS: #กนอ. #นิคมอุดรธานี #CLMVT