“คาราบาว คัพ” กลยุทธ์โลกล้อมประเทศ พาแบรนด์ “คาราบาว” ครองใจคนไทย

“คาราบาว คัพ” กลยุทธ์โลกล้อมประเทศ พาแบรนด์ “คาราบาว” ครองใจคนไทย

เช้าวันนี้คาดว่าแฟนปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทุกคนน่าจะคึกคักเป็นพิเศษหลังจากเมื่อคืนพวกเขาสามารถเอาชนะนิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ดในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลรายการ “คาราบาว คัพ” ไปได้สำเร็จ 2-0 ยุติการไม่มีแชมป์ตลอด 6 ปีลงได้สำเร็จ ทำให้ปีนี้ล้อพวกเขาว่า “แชมป์ว่าว” ไม่ได้อีกต่อไป!!

ซึ่งท่ามกลางความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากฟุตบอลรายการนี้นั้นมีชื่อว่า “คาราบาว คัพ” โดยชื่อของมันก็มาจากการที่ทางบริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังได้ก้าวเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้.

ซึ่งตอนนี้ก็สนับสนุนรายการนี้ในฐานะพันธมิตรหลัก หรือ First Partner มาตั้งแต่ฤดูกาล 2017-2018 มาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 5 ฤดูกาลเข้าไปแล้ว ที่จริงทาง คาราบาว กรุ๊ป ยังเคยเป็นผู้สนับสนุนให้ทีมฟุตบอลอย่างเชลซีด้วยที่เพิ่งสิ้นสุดสัญญาไปในปี 2021

World Class Product & World Class Brand สโลแกนเพื่อคนไทย

แน่นอนว่าเป้าหมายการเข้าไปลงทุนสนับสนุนด้านธุรกิจกีฬาในต่างประเทศนั้นทาง คาราบาว กรุ๊ป น่าจะมองเห็นผลดีมากถึง 2 มิติ หรือ ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจาก “แบรนด์คาราบาว” จะถูกรับรู้ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว (รายได้จากตรงนี้จะใช้สำหรับจ่ายเป็นค่าโฆษณาไปก็ได้ในการเป็นผู้สนับสนุนฟุตบอลรายการ “คาราบาว คัพ”)

แต่หลัก ๆ ที่แอดมินมองว่าน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของทาง คาราบาว กรุ๊ป ก็คือตลาดไทยนั่นเอง เพราะเราต้องไม่ลืมว่าคนไทยดูฟุตบอลอังกฤษมหาศาล การที่แบรนด์ของบริษัทเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรายการนี้ก็หมายถึงคนไทยที่ดูฟุตบอลอังกฤษทั้งหมดจะได้ทำความรู้จักกับแบรนด์ ตรงนี้ก็หมายถึงโอกาสที่จะนำไปสู่การทดลองสินค้าและบริการต่อไป

ถ้าไปดูในส่วนของรายได้จากการขายของบริษัทแบบ “รายได้จากการขายจำแนกตามภูมิศาสตร์” ในปี 2021 ก็จะพบว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทจำนวนกว่า 60% ยังคงมาจากในประเทศไทย และถ้ารวมกลุ่ม CLMV (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เข้าไปอีก 33% ก็เท่ากับเกือบทั้งหมดของรายได้อยู่ในภูมิภาคนี้ ขณะที่รายได้จากนอกทวีปเอเชียของกลุ่มมีไม่ถึง 5% และถ้าเทียบกับ 2020 ลดลงด้วยซ้ำ

การสร้างสโลแกน World Class Product & World Class Brand นั้นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจธรรมชาติของคนไทย เพราะคนไทยจำนวนมากชอบสินค้าต่างประเทศ หรือยอมรับในสินค้าต่างประเทศมากกว่าสินค้าภายในประเทศ กลยุทธ์นี้จะเรียกว่าโลกล้อมประเทศก็ไม่ผิด ตรงนี้ช่วยทลายกำแพงให้แบรนด์เข้าไปนั่งอยู่ในใจคนไทยได้มากขึ้น

ต้องบอกว่าเห็นแล้วก็ชวนให้ถึงแบรนด์จีนอย่าง “เสี่ยวมี่” ที่ดังในต่างประเทศมากกว่าในประเทศเสียอีก

ความสำเร็จของกลยุทธ์นี้นั้นถูกมองออกเป็น 2 มิติสำหรับแอดมินคือถ้าคู่ชิงชนะเลิศเป็นทีมใหญ่ของวงการฟุตบอลอังกฤษและฐานแฟนบอลอยู่ในไทยมาก แบรนด์คาราบาว ก็ยิ่งได้ประโยชน์มาก

โดย 5 ปีหลังของคู่ชิงชนะเลิศรายการนี้

2018: แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ อาร์เซนอล

2019: แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ เชลซี

2020: แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ แอสตัน วิลล่า

2021: แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับ สเปอร์

2022: ลิเวอร์พูล กับ เชลซี

2023: แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ นิวคาสเซิ่ล

จะเห็นว่าคู่ชิง 6 ปีที่ผ่านมาล้วนมีทีมใหญ่ในกลุ่มท็อป 6 อยู่ด้วยทั้งสิ้น และมีถึง 4 จาก 6 ครั้งที่เป็นทีมในกลุ่มท็อป 6 เจอกันเอง ยิ่งเป็นทีมใหญ่เจอกันคนยิ่งอยากดูมากขึ้นแบบนี้ก็ได้ทั้งแฟนบอลขาประจำและแฟนบอลชั่วคราวที่ตามกระแสกับเขาไปด้วย

ขณะที่ถ้าต้องการยืนยันความสำเร็จในแง่ตัวเองเราก็กลับไปดูที่รายได้ในประเทศในส่วนของ “รายได้จากการขายจำแนกตามภูมิศาสตร์” ในปี 2021 ก็จะพบว่าโตขึ้น 9,133 ล้านบาทในปี 2020 ไปสู่ 10,433 ล้านบาทในปี 2021 ขณะที่รายได้จากตลาดต่างประเทศรวมของพวกเขาปรับตัวลดลง -14.4%

เรื่อง: เอกพล มงคลพัฒนกุล

TAGS: #คาราบาว #คาราบาวคัพ #แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด #การตลาด