‘พาณิชย์’นัดหารือเอกชนวิกฤตทะเลแดง หวังปีนี้ส่งออกติดลบน้อยลง

‘พาณิชย์’นัดหารือเอกชนวิกฤตทะเลแดง หวังปีนี้ส่งออกติดลบน้อยลง
'พาณิชย์'ห่วงผลกระทบส่งออกจากเหตุการณ์ทะเลแดงเรียกผู้ประกอบการสายเดินเรือขนส่งหารือ ขณะที่ภาพรวม 11 เดือนส่งออกยังติดลบ 1.5% แม้เริ่มมีสัญญาณฟื้น มั่นใจปีนี้ติดลบน้อยลง

 

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 และ 11 เดือนแรกของปี 2566 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (847,486 ล้านบาท) ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 4.9 ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือน การส่งออกหดตัวร้อยละ 1.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 0.5

ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า โดยหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวมากกว่าหมวดอื่น ๆ

 

 

 

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ

ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.1 ดุลการค้า ขาดดุล 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8  ขณะที่ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.9 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 7.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน  โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 67.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน  

ส่วนยางพารา ขยายตัวร้อยละ 14.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน  อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง  2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม)

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง  น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์

การส่งออกไปตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขณะที่การส่งออกไปบางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางภาวการณ์ชะลอตัวของภาคการผลิตโลก

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ประเมิน มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 จะกลับมาอยู่ในระดับที่ดีกว่าช่วงภาวะปกติก่อนเกิดโควิด-19 ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีนี้  

 

สำหรับการส่งออกปี 2567 คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักร การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 1.99 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท

 

“ส่งออกปีนี้น่าจะติดลบได้น้อยลง ส่วนจะทำให้เป็นศูนย์หรือพลิกบวก นั้นคงต้องมองภาพรวมที่ผ่านมาด้วย  ซึ่งเดือนธ.ค.ต้องทำส่งออกให้ได้ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป ส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 0.8%”

 

นายกีรติ กล่าวว่า ในวันที่ 26 ธ.ค. ได้เชิญผู้ประกอบการสายเดินเรือขนส่ง และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงสถานการณ์ในทะเลแดง ซึ่งยอมรับว่าเป็นห่วงจะมีผลกระทบกับส่งออกในระยะยาว  ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมแผนรับมือไว้

 

TAGS: #ส่งออก #ทะเลแดง #สายเดินเรือ