ค่ายรถยนต์พร้อมใช้มาตรฐานยูโร 5 หลังทยอยยื่นขอใบอนุญาตมอก.  

ค่ายรถยนต์พร้อมใช้มาตรฐานยูโร 5 หลังทยอยยื่นขอใบอนุญาตมอก.  
‘พิมพ์ภัทรา’ ย้ำบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ดีเดย์ 1 ม.ค.นี้ เชื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และฝุ่น PM 2.5 ระยะยาว ด้านสมอ.วางแผนนำร่องใช้ยูโร6 รถเบนซินเล็ก ปี'68

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันที่ 1 ม.ค. 2567 กระทรวงอุตสาหกรรมจะบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด

ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต มอก. ได้ทันตามกรอบเวลาการบังคับใช้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการและสร้างเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

 ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. ได้เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตตามมาตรฐานยูโร 5 โดยเปิดรับให้ยื่นคำขอตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพของโรงงาน และคำขอรับบริการทดสอบผลิตภัณฑ์รถยนต์ ผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตสำหรับมาตรฐานยูโร 5  โดย สมอ. ยอมรับผลทดสอบให้สามารถนำมาใช้ในการขอการรับรองมาตรฐานได้

อย่างไรก็ตามจากการเปิดรับคำขอผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 28 ธ.ค. 2566 มีผู้ประกอบการมายื่นขอรับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 50 คำขอ รวม 25 ราย เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท อีซูซุมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ สมอ. พร้อมออกใบอนุญาตสำหรับรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 ทันที เมื่อมาตรฐานมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สมอ. มีแผนจะบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวกับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน วันที่ 1 ม.ค. 2568

ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถประเภทอื่นที่เหลือ จะต้องพิจารณาดูความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ    กับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตามการบังคับใช้มาตรฐานยูโร หรือ EURO (EUROPEAN EMISSION STANDARDS)
 เกิดจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปเป็นผู้วางกฏระเบียลเนื่องจากเริ่มเห็นปัญหามลพิษในอากาศที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จำเป็นต้องมีการควบคุมค่ามาตรฐานไอเสียในอุตสาหกรรมยานยนต์ และค่ามาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิง

 

สำหรับมาตรฐานยูโรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีการแบ่งมาตรฐานเรียงลำดับจาก EURO 1, EURO 2, EURO 3, EURO 4, EURO 5 และ EURO 6 ซึ่งแต่ละมาตรฐาน มีความแตกต่างกันจากการวัดกันที่สารเจือปนน้ำมันเชื้อเพลิง และปริมาณการปลดปล่อยมลพิษของสารต่างๆ จากไอเสียรถยนต์ เช่น สารกำมะถัน สารเบนซีน สารโอเลฟิน คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx)และสารมลพิษอนุภาคและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งแบ่งตาม ขนาด ประเภท และลักษณะของเครื่องยนต์ เป็นต้น รวมถึงการกำหนดค่าออกเทน ค่าซีเทนในน้ำมัน

 

ปัจจุบันในประเทศไทยเริ่มใช้มาตรฐาน EURO ครั้งแรกกับรถยนต์นั่งขนาดเล็กในปี 2542 ที่จะต้องผ่านมาตรฐานไอเสีย EURO 2 ก่อนจะขยับเป็น EURO 3 ในปี 2548  ต่อมา กรมธุรกิจพลังงาน ได้ออกประกาศบังคับใช้น้ำมันตามมาตรฐาน EURO4 ทั้งน้ำมันเบนซิน และ น้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2555 จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2549 ที่เห็นชอบให้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยในอนาคต ตามแนวทางของมาตรฐานน้ำมัน EURO4  ทั้งนี้หากระดับ EURO สูงขึ้น ค่ามาตรฐานจะยิ่งสูงขึ้นตาม ไอเสียที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะ รวมถึงค่ากำมะถันก็จะลดลงตามเกณฑ์ 

 

                              

TAGS: #มาตรฐานยูโร #5 #รถยนต์เบนซิน #ลดฝุ่น