MI GROUP คาดเงินสะพัดเศรษฐกิจหมื่นล.บาทช่วงเลือกตั้ง คอนเทนต์การเมืองแนวใต้ดินมุ่งสื่อโซเชียล

MI GROUP คาดเงินสะพัดเศรษฐกิจหมื่นล.บาทช่วงเลือกตั้ง คอนเทนต์การเมืองแนวใต้ดินมุ่งสื่อโซเชียล
MI GROUP มองเม็ดเงินโฆษณาปีนี้แตะ 85,700 ล้านบาท โตเพิ่ม5% จากปีก่อน รับหลายปัจจัยบวกหนุน ปิดฉากโควิด-ท่องเที่ยวบูม-วันเลือกตั้งชัด ดันการบริโภคในประเทศพุ่ง

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP กล่าวว่ากิจกรรมเตรียมการก่อนเลือกตั้งประเทศไทย (คาดกำหนดวันเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566) ประเมินว่าจะมีการใช้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจราว 10,000 ล้าน ในช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-พ.ค. ปีนี้

ย้อนงบฯหาเสียงพรรคไหน? เปย์หนักสุด

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบงบประมาณโฆษณาการเลือกตั้ง 3 ครั้งล่าสุด MI GROUP  ระบุว่า

งบฯโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2557  อยู่ที่ 90.743 ล้านบาท แบ่งเป็น พรรคชาติพัฒนา 16.817 ล้านบาท พรรคชาติไทยพัฒนา 6.688 ล้านบาท พรรคเพื่อไทย 6.685 ล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 4.355 ล้านบาท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 1.866 ล้านบาท พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1.399 ล้านบาท พรรคประชาธิปัตย์ 1.004 ล้านบาท อื่นๆ (71พรรค) 5.1929 ล้านบาท  

งบฯโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2562 รวม 28.572 ล้านบาท แบ่งเป็น พรรคชาติพัฒนา 13.004 ล้านบาท พรรคพลังประชารัฐ 3.444 ล้านบาท พรรคเพื่อไทย 2.675 ล้านบาท พรรคชาติไทยพัฒนา 2.001 ล้านบาท พรรคอนาคตใหม่ 1.782 ล้านบาท พรรคประชาชาติ 1.584 พรรคประชาธิปัตย์ 6.12 ล้านบาท อื่นๆ (7 พรรค) 3.470 ล้านบาท

งบฯโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ปี 2565 รวม 31.223 ล้านบาท แบ่งเป็น อัศวิน ขวัญเมือง 28.480 ล้านบาท สกลธี ภัททิยกุล 14.70 ล้านบาท สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 17.12 ล้านบาท โฆษิต สุวินิจจิ 18.6 ล้านบาท และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 4.2 ล้านบาท

ส่วนปีนี้คาดมีการใช้งบฯซื้อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไม่ถึง 100 ล้านบาท หรือใช้เพียงหลัก 10 ล้านเท่านั้น

หน้าใหม่เลือกตั้ง เฉียด 4  ล้านราย

ทั้งนี้หากย้อนข้อมูลผู้มีสิทธิ์เลือกปี 2562 เปรียบเทียบปี 2566 โดยแบ่งตามกลุ่มช่วงอายุ ดังนี้  

ปี2562

  • GenZ (18-24 ปี) สัดส่วน 12% จำนวน 6,398 คน
  • GenY (25-39 ปี) สัดส่วน 28% จำนวน 14,334 คน
  • GenX (40-54 ปี) สัดส่วน 30% จำนวน 15,429 คน
  • Baby Bommer (55+) สัดส่วน 30% จำนวน 15,259 คน

ปี 2566

  • GenZ (18-24 ปี) สัดส่วน 11% จำนวน 5,643  คน
  • GenY (25-39 ปี) สัดส่วน 27% จำนวน 14,005 คน
  • GenX (40-54 ปี) สัดส่วน 29% จำนวน 15,206  คน
  • Baby Bommer (55+) สัดส่วน 33% จำนวน 17,191 คน

ขณะที่ในปีนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกรวมประมาณ 52 ล้านคน แบ่งเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (New Voter) ในปี2566 อยู่ที่ 3.9 ล้านคน

ภวัต เสริมว่าการใช้เม็ดเงินโฆษณาหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี2566 คาดจะเทน้ำหนักในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย) ในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ ผ่านผู้ทำเนื้อหา (Content Creator) จากฐานเสียงผู้สนับสนุนพรรค/นักการเมืองในรูปแบบแปลกๆ สายสีเทา หรือ แนวใต้ดิน  เพื่อมุ่งสร้างกระแส หรือ ความตื่นตัวอย่างรวดเร็วแบบวงกว้างในสื่อช่องทางหลักดังกล่าว มากขึ้น

เม็ดเงินโฆษณาปี 2566 แตะ 85,700 ล้านบาท

ภวัต กล่าวต่อว่าสำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2566 คาดมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 85,700 ล้านบาท เติบโต5% จากปี 2565 อยู่ที่ 82,000 ล้านบาท

โดยในปีนี้ คาดยังมีปัจจัยลบต่อเนื่องจากปีก่อน อาทิ GDP โตต่ำกว่าคาด สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง หนี้ครัวเรือนสูง ทำให้อุปสงค์ต่ำ ส่วนปัจจัยบวก อาทิ วิกฤตโควิด-19สิ้นสุด ท่องเที่ยวบูม ต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่างได้รับอานิสงส์ รวมถึงการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือน พ.ค. จะหนุนเงินสะพัดช่วงเมษายน-พฤษภาคม เข้ามาฟื้นอุปสงค์ในประเทศ

ทั้งนี้  MI GROUP คาดการณ์ 5 อุตสาหกรรมที่เม็ดเงินโฆษณา จะคึกคักในปี 2023 ประกอบด้วย 

o หมวดยานยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะ ยานยนต์พาณิชย์, ยานยนต์พลังงานสะอาด (EV, HEV, PHEV) คาดเม็ดเงินปีนี้มากกว่า 5,800 ล้านบาท

o หมวดงานอีเว้นท์กิจกรรม คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า คาดเม็ดเงินปีนี้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

o E-Commerce โดยเฉพาะ Market Place, เดินทาง&ท่องเที่ยว, รถยนต์มือสอง, ประกัน, ดีลและส่วนลดพิเศษ คาดเม็ดเงินปีนี้มากกว่า 1,800 ล้านบาท

o อาหาร เครื่องดื่ม และบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อสุขภาพและความงาม คาดเม็ดเงินรวมปีนี้มากกว่า 9,800 ล้านบาท

o ผลิตภัณฑ์ในหมวดความสวยและความงาม คาดเม็ดเงินรวมปีนี้มากกว่า 9,300 ล้านบาท

 

TAGS: #MIGROUP #เงินโฆษณา2566 #เลือกตั้ง2566