กว่า 30 ปี ที่เอ็กโก กรุ๊ป หรือ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานครบวงจร ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,202 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวมสูงถึง 1,249 เมกะวัตต์ ได้แก่ ชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเซลล์เชื้อเพลิง
โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่าง ๆ อยู่ในประเทศและต่างประเทศรวม 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา
หนึ่งในพันธกิจของเอ็กโก กรุ๊ป นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 2535 ที่สำคัญคือ การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและใส่ใจต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นปัจจัยตั้งต้นของพลังงานและสิ่งมีชีวิตทั้งมวล
การดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานครบวงจรของเอ็กโก กรุ๊ป ใส่ใจกับการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับความตั้งใจในการร่วมดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากภายในองค์กร ขยายไปสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นทางของความอุดมสมบูรณ์ทั้งมวล และสอดคล้องกับความเชื่อขององค์กรที่ว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”
เมื่อปี 2539 เอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ในขณะนั้น ริเริ่มโครงการเพื่อการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สูงที่สุดของประเทศไทย ด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจความหมายและคุณค่าของผืนป่าต้นน้ำโดยสนับสนุนการจัดสร้างอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่บรรยายให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับผืนป่าในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในชื่อว่า “อาคารกาญจนาภิเษก”
นอกจากนี้ ได้พัฒนา “เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน” จากเส้นทางลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เพื่อใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติเกี่ยวกับป่าอินทนนท์แก่นักท่องเที่ยวและผู้สนใจ รวมถึงจัดโครงการอบรมชุมชนในพื้นที่ให้เป็น “มัคคุเทศก์ท้องถิ่น” ถือเป็นโครงการนำร่องที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน และช่วยลดการบุกรุกป่าได้อีกทางหนึ่ง
ต่อมาในปี 2540 ได้ริเริ่มจัดโครงการ “ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า” โดยเชิญชวนเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมและใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติในป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์ เป็นเวลา 5-7 วัน
การเข้ามามีส่วนร่วมกับงานอนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ของเอ็กโก กรุ๊ป ได้จุดประกายให้มีแนวคิดจัดตั้ง “มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” เป็นองค์กรสาธารณกุศล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 ด้วยเจตนารมณ์ในการสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผืนป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศให้เกิดความยั่งยืน
ทางมูลนิธิฯ ได้เข้ามาต่อยอดโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ของเอ็กโก กรุ๊ป เนื่องจากเห็นว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ เพราะเป็นป่าต้นน้ำที่อยู่จุดที่สูงที่สุดของประเทศไทย มีความหลากหลายของสภาพพื้นที่ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญคือแม่น้ำปิง อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
รวมถึงมีชุมชนจำนวนมากอาศัยอยู่ทั้งในเขตและรอบแนวเขตอุทยาน ชุมชนเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่
ตลอดระยะเวลาดำเนินการในพื้นที่กว่า 20 ปี มูลนิธิฯ มุ่งเน้นส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียง ต่อมาได้พัฒนาเป็นการดำเนินงานที่สำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
ด้านการส่งเสริมคนต้นน้ำ “โครงการหมู่บ้านไทยรักษ์ป่า” เป็นโครงการส่งเสริมหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ให้มีการพึ่งพาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการสำคัญคือ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้” โดยมูลนิธิฯ มีบทบาทในการร่วมผลักดันและเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน ให้เกิดการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนโดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งชุมชนที่อยู่ในโครงการฯ เช่น บ้านแม่ปอน (บ้านสันดินแดง) บ้านแม่กลางหลวง เป็นต้น
ด้านการสร้างจิตสำนึกรักษ์ป่าผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพราะมูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่าการปลูกจิตสำนึกลงในใจคนเป็นหนทางที่จะรักษาธรรมชาติไว้ได้อย่างยืนยาวที่สุด โดยมีกลุ่มเป้าหมายของการดำเนินงานอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กและเยาวชน และกลุ่มนักท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
สำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน ได้ดำเนิน “โครงการเครือข่ายเยาวชนไทยรักษ์ป่า” ที่มุ่งปลูกจิตสำนึกให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ โดยผ่านการสัมผัสตรงจากห้องเรียนธรรมชาติป่าต้นน้ำ และโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน รวมถึงการสานต่อ “โครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า” จนปัจจุบันมีเยาวชนที่ผ่านการอบรมมาแล้ว 55 รุ่น รวมกว่า 3,000 คน
ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ” เพื่อใช้เป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สะท้อนถึงระบบนิเวศป่าต้นน้ำ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เล็งเห็นและเข้าใจถึงคุณค่าของป่าต้นน้ำที่เป็นมากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 4 เส้นทางในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ดังนี้
ปี 2550 บุกเบิกและพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน
ปี 2561 ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย
ปี 2562 ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน
ปี 2564 ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา
ปัจจุบันกำลังพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางอีก 1 แห่ง คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอกเสี้ยว
ด้านการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งเผยแพร่ประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำให้กับหน่วยงานต่าง ๆ และสาธารณชน เพื่อผลักดันให้เกิดพลังการขับเคลื่อนทางสังคมและก่อให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและต่อยอดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มูลนิธิฯ ได้ใช้โมเดลการทำงานอย่างรอบด้านในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็น “โซ่ข้อกลาง” ในการทำงานประสานกับชุมชน เยาวชน และเครือข่ายต่าง ๆ ต่อยอดและขยายขอบเขตงานอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและธรรมชาติไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกพรหมโลก กะโรม และอ้ายเขียว ในปี 2560 และปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิง ในปี 2565 รวมถึงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ
สำหรับทิศทางในอนาคต มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศ โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าอย่างมีส่วนร่วมจำนวน 100,000 ไร่ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและปรับระบบเกษตร จำนวน 5,000 ไร่ ใน 3 ภูมิภาคต่อไป