‘พีระพันธ์’เตรียมล้างบางบอร์ดเก่า สั่งสอบข้อเท็จจริง ยอมรับใช้เงินผิดประเภท ล่าสุดฐานะกองทุนฯมีเงินอยู่ 1.3 หมื่นล้านบาท
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก“กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ
ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล พบประเด็นในขั้นตอนต่าง ๆ ของโครงการอาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนี้
1.การจัดสรรงบประมาณ 2.การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 3.การจัดซื้อจัดจ้าง 4.กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา 5.การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า 6.การติดตามและประเมินผลโครงการ และ 7.การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ทั้งนี้ครม.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงพลังงานสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอครม.ต่อไป
นายคารม กล่าวว่า ที่ประชุมครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้สอบถามนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งนายพีระพันธุ์ได้แจ้งว่า โครงการฯนี้ส่อไปในทางการใช้เงินผิดประเภท และทำผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
รวมทั้งมีกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่อยู่ในข่ายที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยนายพีระพันธุ์บอกว่าจะไปรื้อทั้งหมดโดยตั้งกรรมการฯขึ้นมาใหม่เพื่อตรวจสอบ ซึ่งเป็นข้อคิดเห็น ดังนั้นทางเลขาธิการ ครม. ได้แนะนำว่าควรนำเสนอเป็นเอกสารเข้ามาในครม. ครั้งถัดไป เนื่องจากเป็นการให้ความเห็นโดยไม่มีเอกสาร
สำหรับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ถูกจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2535 ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ทำให้จำเป็นต้องจัดหาพลังงาน จากทั้งแหล่งในประเทศและนอกประเทศ เป็นเงินจำนวนมาก จึงได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดมาตรการกำกับดูแลและส่งเสริมให้มีการใช้ พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เป็นทุนหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานทั้งด้านการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน
ตลอดจนเป็นเงินช่วยเหลือหรือเงินอุดหนุนโครงการทางด้านการอนุรักษ์พลังงาน การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน โครงการสาธิต หรือโครงการริเริ่มที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน หรือการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน การศึกษา การฝึกอบรม และการประชุมเกี่ยวกับพลังงาน การโฆษณา การเผยแพร่ข้อมูล และการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนา การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน
ทั้งนี้ภารกิจหลัก คือ1.บริหารจัดการเงินกองทุนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 2. ทำให้การศึกษา วิจัย พัฒนา สาธิต และทรัพยากรมนุษย์มีความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ด้านพลังงานของประเทศ 3. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตและการใช้พลังงาน เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารให้ความรู้ และ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานด้านพลังงาน
ขณะที่แหล่งที่มาของกองทุนฯมาจากการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล ดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันเตา ในอัตรา 0.0500 บาทต่อลิตร ซึ่งปัจจุบันฐานะกองทุนอนุรักษ์ฯที่มีวงเงินอยู่ 13,568.44ล้านบาท