ปตท.จับธุรกิจโลจิสติกส์ ดัน GML นำร่องขนส่งสินค้าเกษตรไปจีน

ปตท.จับธุรกิจโลจิสติกส์ ดัน GML นำร่องขนส่งสินค้าเกษตรไปจีน
GML กางแผนปี67 ผนึกพันธมิตรส่งสินค้าเกษตรผ่านระบบรางเจาะลูกค้าในจีน 5 เมืองสำคัญ ตั้งเป้าปีนี้ 5,000 ตู้ รายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 พันล้านบาท

นายชาญศักดิ์  ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ วิศวกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการบริษัท Global Multimodal Logistics หรือ GML  เปิดเผยถึงแผนธุรกิจในปี 2567 ว่า ยังคงร่วมกับพันธมิตรเปิดตลาดขนส่งสินค้าระบบรางไปยังจีนต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการตั้ง GML ที่ต้องการให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ เข้าไปช่วยปรับปรุงและเชื่อมโยงระบบโลจิกติกส์ของประเทศให้เกิดความต่อเนื่องในทุกระบบ หรือ Multimodal Logistics  เนื่องจากในปัจจุบัน ไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์ ขนส่งต่อหน่วยเทียบกับ GDP อยู่ที่ 13-14% คิดเป็นมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท และพึ่งพาการขนส่งทางถนนกว่า 85%  หากลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงได้ 1% ก็จะลดต้องทุนได้ 2.4 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกันที่ผ่านมามีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปมากที่สุด คือ ระบบราง แต่ยังใช้ประโยชน์น้อยมาก ดังนั้นหากต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งระหว่างประเทศ (Logistic hub) ควรใช้ศักยภาพของการขนส่งที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์รอบด้าน

อย่างไรก็ตามเหตุผลที่เลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายประเทศแรก คือ จีน เพราะมีโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) หรือ โครงการจีนเชื่อมโลก ซึ่งมีเส้นทางรถไฟวิ่ง ผ่าน ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ แต่ขณะนี้ยังติดปัญหาการเชื่อมต่อที่ไทยในเรื่องทางเทคนิคของระบบขนส่ง

นายชาญศักดิ์  กล่าวว่า GML เข้าลงทุนโลจิสติกส์ในจีน ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร คือ บริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์ โรด จำกัด (PAS) ที่มีทำธุรกิจในเส้นทางการค้าขยายตลาดสู่จีนอยู่แล้ว โดยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน“ เริ่มจาก ฉงชิ่ง เป็นเมืองแรกที่ไปทำ MOU กับ ฉงชิ่งโลจิสติกส์ (ยูฉิงโหว) ซึ่งมี 5 หุ้นส่วนใหญ่ คือ รัฐบาลจีน-การรถไฟประจำเมืองฉงชิ่ง-การรถไฟรัสเซีย-การรถไฟคาซัคสถาน-การรถไฟเยอรมัน เชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟที่มีระยะทาง 10,000 กม. สามารถเชื่อมต่อกันไปสู่ยุโรป

ทั้งนี้นำร่องทดลองส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟในเดือนธ.ค.ปี 2566จากนั้น เริ่มขนส่งสินค้าไป กว่างโจว,เจิ้งโจว, คุนหมิง และเฉิงตู รวม 5 เมือง มีประชากรรวมกว่า 1,000 ล้านคน คิดเป็นส่วนราว 3ใน4 ของประชากรจีน และปัจจุบัน ยังมีอีกหลายเมืองที่ทยอยทำ MOU ร่วมกัน

“จุดที่เข้าไปทำธุรกิจถือว่า ยังไม่มีคู่แข่ง อีกทั้งการใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้า ช่วยให้เกิดการประหยัด 20% เมื่อเทียบกับขนส่งทางถนน และที่สำคัญตรงต่อเวลา นอกจากนี้GML ยังร่วมกับ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางรางเป็นการส่งเสริมให้สินค้าเกษตรของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศได้”

ในปี2566 การนำร่องทดลองส่งสินค้าเกษตร เช่น ทุเรียน,ยาง,ข้าว และเม็ดพลาสติก กว่า 400 ตู้  มีผลกำไรหลักร้อยล้านบาท แต่ในปี 2567 มีเป้าหมายจะเพิ่มการขนส่งสินค้าปศุสัตว์  รวมถึง พืชผัก ผลไม้  รวม 5,000 ตู้ สร้างรายจากการขนส่งได้ราว 1,500 ล้านบาท โดยวางแผน 5 ปี GML มีรายได้จากการขนส่งสินค้า ราว 5,000 -6,000 ล้านบาท เฉพาะขนส่งทางราง แต่หากในอนาคตมีการขนส่งทางอากาศเข้ามาเพิ่ม กำหนดสัดส่วนรายได้จากการขนส่งทางราง จะอยู่ที่ 40% และขนส่งทางอากาศ จะอยู่ 60% บนพื้นฐานที่รัฐต้องขจัดอุปสรรคเปิดประตูสู่การขนส่งสินค้าทางอากาศให้แล้วเสร็จก่อน

นายชาญศักดิ์ กล่าวถึง การขนส่งสินค้าทางอากาศ ยังเป็นช่องทางสำคัญของประเทศไทยที่จะขยายเส้นทางการค้า เชื่อมโยงขนส่งสินค้าผ่านระบบสายการบินกับระบบราง เพื่อส่งเสริมการเป็น Logistic hub และไทยมีข้อได้เปรียบจากพื้นที่ตั้งของสนามบินสุวรรณภูมิ ที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าได้ไม่ยาก แต่ยังมีอุปสรรค เช่น เรื่องของ พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี (Free trade Zone)  ที่จากการศึกษาเห็นว่า ยังมีหลายส่วนงานที่ต้องปรับแก้ เช่น เรื่องของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารผ่านแดนน หรือ พิธีศุลกากร ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ เพื่อเอื้อให้สายการบินต่างๆ เข้ามาใช้สนามบินของไทยเป็นฐานการขนส่งสินค้าสู่ประเทศอื่น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน GML ได้หารือและทำความร่วมมือกับ บริษัทการบินไทย และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และพันธมิตร เพื่อร่วมมือกัน ยกระดับ ‘แวร์เฮาส์’ การบินไทย ให้เป็นระบบออโตเมชั่น 100% ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปแนวทางการร่วมลงทุนซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบใด และต้องวางงบประมาณลงทุนเท่าใดก็จะเสนอ บอร์ด ปตท.พิจารณาต่อไป

สำหรับ  บริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) จัดตั้งขึ้น จากมติคณะกรรมการบริษัท สยาม แมนเนจเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) (บริษัทย่อยซึ่ง ปตท. ถือหุ้นทั้งหมด) โดย SMH ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท  มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศไทย รวมถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยมีบริการหลัก อาทิ การขนส่งสินค้าทางราง ทางทะเล ทางบกและทางอากาศการบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็น เป็นต้น

 

TAGS: #ปตท. #โลจิสติกส์ #GML