น้ำมัน-ไฟฟ้าลดกดเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ติดลบต่อเนื่องต่ำสุดรอบ 34 เดือน

น้ำมัน-ไฟฟ้าลดกดเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ติดลบต่อเนื่องต่ำสุดรอบ 34 เดือน
'พาณิชย์'ชี้เงินเฟ้อทั้งปีบวกแค่ 1.23% ผลจากมาตรการรัฐลดค่าครองชีพ ส่งผลให้ราคาสินค้าลดลงตามต้นทุนพลังงาน คาดแนวโน้มปี’67ยังต่ำ เฉลี่ยติดลบ0.7-1.7%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึง  ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนธันวาคม 2566 เท่ากับ 106.96 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.86 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.83 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล สงผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าไฟฟ้าลดลง รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารและ ผักสดราคาลดลงต่อเนื่องค่อนข้างมาก ส่วนสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 0.58 (YoY) อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย
ลดลงร้อยละ 0.44 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 135 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สอดคล้องกับในหลายประเทศทั่วโลกที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว

อย่างไรก็ตามดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2566 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลงร้อยละ 0.46 (MoM) โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.51 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า) ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง) ผักสดและผลไม้ (ผักคะน้า ต้นหอม ผักชี ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า)

ขณะที่สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ซอสพริก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำดื่ม กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.44 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเภททั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และดีเซล (ยกเว้นก๊าซยานพาหนะ (LPG) ราคาโดยเฉลี่ย
ไม่เปลี่ยนแปลง)

อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 สูงขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.23 (AoA) และเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.0 – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 1.35) โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอาหารสด ทั้งข้าวสาร ไข่ไก่ ผักและผลไม้ จากต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2565 และพืชผักบางชนิดเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ขยายตัวดี มีส่วนทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาวัตถุดิบ รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าที่ราคายังอยู่ระดับสูงกว่าปี 2565

นายพูนพงษ์  กล่าวถึง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย

2.ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม 3. ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง และ 4. มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยวที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก อาทิ การโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ เป็นต้น

ทั้งนี้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน 

  

 

 

 

 

TAGS: #น้ำมัน #ไฟฟ้า #เงินเฟ้อ