จับตาพลังงานเคาะค่าไฟสัปดาห์หน้ากดให้ต่ำกว่าหน่วยละ 4.20 บาท

จับตาพลังงานเคาะค่าไฟสัปดาห์หน้ากดให้ต่ำกว่าหน่วยละ 4.20 บาท
‘พีระพันธุ์’ บี้ทุกหน่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟ เชื่อหลังรื้อราคาพลังงานลดไปได้ 48 สต. รอกกพ.เคาะตัวเลขทางการ มั่นใจช่วยคนไทยลดภาระค่าใช้จ่ายได้แน่

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะสรุปอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) รอบเดือนม.ค. - เม.ย. 2567 ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยขึ้นไป ได้ภายในสัปดาห์หน้า ไม่เกินวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่ให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ภายหลังนายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้สั่งการให้มีการทบทวนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติต้องมีความเป็นธรรมไม่สร้างภาระให้กับค่าไฟฟ้า  ซึ่งได้โยกก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เคยนำไปผลิตใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไปสำรองให้กับการผลิต LPG ที่ประชาชนนำไปใช้หุงต้มในราคาถูกที่สุด

ขณะที่การใช้ก๊าซฯของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องซื้อก๊าซฯในลักษณะราคาพูลก๊าซ (Pool Gas) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนด้านผลิตปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นธรรมกับประชาชน โดยจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงได้เฉลี่ย 11.50 สตางค์/หน่วย ในระยะยาว

อย่างไรก็ตามทางกกพ.ยังต้องรอตัวเลขโครงสร้างราคาก๊าซที่ชัดเจนจากบริษัทปตท.ก่อน แต่ยืนยันว่า ค่าไฟงวดใหม่นี้จะไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย เพราะที่ผ่านมาได้ปรับและรื้อโครงสร้างราคาพลังงานใหม่ทั้งหมดทำให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าลดลงราว 48 สตางค์ จากเดิมที่ประกาศไว้ 4.68 บาทต่อหน่วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากมองในระยะยาว อัตราค่าไฟฟ้างวดที่ 2ของปี 2567 (พ.ค.-ส.ค.ฉ) มีสัญญาณที่ดีเพราะแนวโน้มราคาก๊าซฯน่าจะทรงตัว รวมถึงจะมีปริมาณก๊าซฯจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้น เพราะจะได้ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ขาดหายไปในช่วงรอยต่อเปลี่ยนผู้บริหารแหล่งเอราวัณจากบริษัท เชฟรอนฯเป็นบริษัทปตท.สผ.ฯ  โดยยืนยันในเดือนเม.ย. 2567 ปริมาณก๊าซฯจากอ่าวไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน  จากปัจจุบันเฉลี่ยยังไม่ถึง 600 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ปัจจุบันการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ​ เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566  ยังไม่ถึง​ 600​ ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน​ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า เนื่องจาก ​ปตท.สผ.​ได้มีแผนสำรองเพิ่มอัตรากำลังการผลิตจากแหล่งบงกชและ​แหล่งอาทิตย์​ มาทดแทนปริมาณ​รวม​ 160​ ล้านลบ.ฟุตต่อวัน​ รวมถึงเลื่อนแผนซ่อมบำรุงของแหล่งยาดานา​ ในเมียนมา​ออกไป​

 

TAGS: #ต้นทุนเชื้อเพลิง #ค่าไฟ #กกพ.