เงินเฟ้อ.. ดอกเบี้ย ปมร้อนเศรษฐกิจ คลัง-แบงก์ชาติมองต่างมุม

เงินเฟ้อ.. ดอกเบี้ย ปมร้อนเศรษฐกิจ คลัง-แบงก์ชาติมองต่างมุม
เงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนผลพวงมาตรการตรึงราคาพลังงาน เหตุแบงก์ชาติลังเลปรับขึ้นดอกเบี้ย ห่วงเงินดิจิทัล 5 แสนล้านดันเงินเฟ้อพุ่งระยะยาว

กลายเป็นประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตหลังมีการประกาศตัวเลขกำไรกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่รวยอู้ฟู่หลายแสนล้านบาทจากรายได้หลักที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสวนทางกับภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่สูงขึ้น จนเกิดคำถามไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)หรือแบงก์ชาติในการกำกับนโยบายการเงินในการดูแลอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้ามองจากสถิติการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามมติของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน(กนง.)ของแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ส.ค. 2565 จนถึงล่าสุดเดือนก.ย. 2566 รวมแล้ว 2.50 %

การปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเป็นไปตามทิศทางของการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่ปรับขึ้นไปแล้วรวม 5%  เพื่อรักษาส่วนต่างดอกเบี้ย ไม่เช่นนั้นจะทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากประเทศไทยและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า  ซึ่งแบงก์ชาติพยายามรักษาระดับการปรับดอกเบี้ยไม่ให้เร็วเกินไป และกนง.ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพ.ย.2566 ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อต้องการส่งสัญญาณ ว่าถ้าเฟดลดดอกเบี้ยก็พร้อมที่จะปรับลดลงตาม

อย่างไรก็ตามคำถามที่ว่าเงินเฟ้อติดลบทำไมต้องขึ้นดอกเบี้ย  หากมองย้อนไปในช่วงที่เริ่มตั้งรัฐบาลใหม่ อัตราเงินเฟ้อยังเป็นบวก จนมาเริ่มติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือนตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค. 2566   แม้เฉลี่ยเงินเฟ้อปี 2566 อยูที่ 1.23 % และคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2567 ยังอยู่ในระดับที่ต่ำจากมาตรการตรึงราคาพลังงานทุกรูปแบบ 

ทั้งนี้จากการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ สาเหตุหลักที่เงินเฟ้อติดลบมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลทั้งตรึงราคาน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องการช่วยลดภาระให้ประชาชน แต่ไม่ใช่จากภาวะเศรษฐกิจที่แย่เพราะอัตราดอกเบี้ยสูง แล้วเงินเฟ้อติดลบทำไมไม่ช่วยลดดอกเบี้ย   

นอกจากนี้อีกปัจจัยที่ทำให้แบงก์ชาติรยังไม่ตัดสินใจลดดอกเบี้ย เนื่องจากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้านบาท  ที่ จะทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น  ดังนั้นจึงยังต้องรอให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ก่อน หากเร่งลดดอกเบี้ยไปก่อนจะยิ่งทำให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า   

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมร่วมเอกชน (กกร.) 3 สถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย   วันที่ 10 ม.ค.นี้จะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยมาหารือร่วมกัน โดยต้องการให้แบงก์ชาติดูแลนโยบายดอกเบี้ย เพื่อลดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเพื่อช่วยลดภาระภาคธุรกิจและประชาชน ซึ่งหวังว่าแบงก์ชาติยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป

 

 

TAGS: #เงินเฟ้อ #ดอกเบี้ย #ตรึงราคาพลังงาน