ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล มองวิกฤตหุ้นกู้ไทยกระทบในอุตสาหกรรม สะดุดสภาพคล่องกำลังซื้อ วางแผน 3 เรื่องรับมือคุมหนี้เสีย-ทิ้งรถมอเตอร์ไซค์ รับตลาดรวมรถใหม่ 1.7 ล้านคันต่อปี ยังเติบโต 7%
วิชิต พยุหนาวีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 จำกัด (มหาชน) หรือ SCAP เปิดเผยว่าจากภาวะหุ้นกู้ที่มีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบในแทบทุกอุตสาหกรรมธุรกิจด้วยขาดเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดกิจการต่างๆ หลังพบว่าบริษัทชื่อดังหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง และนำไปสู่การ ‘เลื่อน’ ไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือมีบางราย ‘ผิดนัดชำระหนี้’ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ลงทุนในหุ้นกู้ต่างมีความระมัดระวังมากขึ้น
จากแนวโน้มดังกล่าว บริษัทประเมินว่ายังส่งผลกระทบต่อไปยังภาคธุรกิจบริการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ (ไฟแนนซ์) ด้วยเช่นกัน ทำให้ เอสแคป วางแนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 อย่างระมัดระวังและมีความรัดกุมมากขึ้น ใน 3 เรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้เสีย ประกอบด้วย
- การบริหารจัดการร้านขายรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์) ที่มีบริการจัดไฟแนนซ์ให้กับผู้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ที่กระจายอยู่ราว 4,000-5,000 แห่งทั่วประเทศ แบ่งสัดส่วนราว 30% ที่ เอสแคป มั่นใจว่าจะเข้าไปดูแลและบริหารจัดการได้
- การปล่อยวงเงินสินเชื่อให้กับรถมอเตอร์ไซค์ในแต่ละรุ่น/ยี่ห้อ ตามความเหมาะสมและเงินดาวน์สัดส่วน 10, 20, 30 % ของมูลค่ารถจากผู้ซื้อเช่า เพื่อลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ
“เมื่อจัดไฟแนนซ์ วางดาวน์มากขึ้นให้วงเงินน้อยลง ซึ่งเท่ากับว่าลูกค้ามีการลงทุนในสินทรัพย์รถมอเตอร์ไซค์ไปแล้วจำนวนหนึ่ง โอกาสในการที่จะทิ้งรถหรือปล่อยให้รถถูกยึด มีความเป็นไปได้น้อยลง และทำให้เอสแคปมีคุณภาพหนี้ดีขึ้น”
- การจัดเครดิต สกอริง (Credit Scoring) คะแนนชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยจะยังแบ่งแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ พร้อมพิจารณาข้อมูลเครดิตบูโร (NCB) แต่ละรายเพื่อประกอบการให้ไฟแนนซ์ เป็นต้น รวมถึงการประกอบอาชีพของลูกค้า ในแต่ละพื้นที่อยู่อาศัย
“ในกรณีลูกค้าที่ไม่มีเอ็นซีบีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เช่น เกษตรกร ก็จะพิจารณาโอกาสการให้สินเชื่อจากการย้ายถิ่นฐานซึ่งมีน้อยกว่าสายอาชีพในโรงงาน ที่อาจมีการทิ้งรถหรือขโมยรถไปได้มากกว่า ทำให้จากนี้ไปเอสแคปจะโฟกัสคุณภาพหนี้มากขึ้น ในช่วงภาวะที่เงินได้มาซึ่งความยากลำบากมากขึ้น ดังนั้นการปล่อยลงทุนต่างๆ จึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ลูกค้าที่ผ่านการอนุมัติจะต้องเป็นลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ชั้นดี จากปัจจุบันมีอยู่ราว 5.5 แสนบัญชี มีระยะเวลาไม่เกิน 3-3ปีครึ่ง” วิชิต กล่าวเสริม
พร้อมกล่าวถึง ภาพรวมธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ในปี 2566 มีปริมาณราว 1.7 ล้านคัน เติบโตราว 7% เทียบกับในปี 2565เติบโตราว 5% ปัจจัยหลักมาจากตัวแทนขาย(ดีลเลอร์) รายเล็กหันทำตลาดส่งออกรถมอเตอร์ไซค์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวตะเข็บชายแดนเพิ่มขึ้น ด้วยโอกาสราคาขายรถที่สูงกว่าราคาที่ทำตลาดในไทย
แม้ว่าในช่วงปลายปี2565 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)ได้ออกมาควบคุมอัตราดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อสินค้าบริการ ต่างๆ ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล ไม่เกิน 25% สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 24% บัตรเครดิต อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 16% สินเชื่อนาโน ไฟแนนซ์ 33% รวมถึงสินเชื่อรถยนต์ใหม่ และเก่า อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 10% และ 15% สินเชื่อรถจักรยานยนต์ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 23% จากเดิมที่อยู่อัตรา 30% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เอสแคป ไม่ได้รับผลกระทบในตลาดดังกล่าว ด้วยบริษัทได้ปรับแนวทางการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐ ไปพร้อมการควบคุมไม่ให้เกิดหนี้เสียจากผู้เช่าซื้อเพิ่มขึ้น อาทิ การเพิ่มวงเงินดาวน์รถใหม่ ดังที่กล่าวข้างต้น พร้อมบริหารจัดการระยะเวลาการชำระค่างวดในลูกค้าแต่ละรายอย่างระมัดระวังมากขึ้น ปัจจุบันเอสแคป ครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่ออันดับหนึ่งในตลาดรถมอเตอร์ไซค์ ที่ให้บริการครอบคลุมทุกอำเภอ ทั่วประเทศ
สำหรับผลประกอบการในปี 2566 บริษัทอยู่ระหว่างรายงานข้อมูลไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อแล้วเสร็จ จะเตรียมเปิดแผนธุรกิจในปี2567 อย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดย เอสแคป คาดจะมีอัตราเติบโตราว 30% ตามเป้าหมายที่วางไว้จากในปี 2565 มีรายได้ราว 2 หมื่นล้านบาท