เอดีบีลงนามเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม

เอดีบีลงนามเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม
เอดีบีลงนามเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ระหว่างประเทศแห่งแรกในเอเชีย แห่งแรกใน สปป.ลาว และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบีและบริษัท Monsoon Wind Power Company Limited (Monsoon) ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้แบบ non-recourse financing package มูลค่า 692.55 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 600 เมกะวัตต์ (MW) ในแขวงเซกองและแขวงอัตตะปือในภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อส่งออกและขายไฟฟ้าไปยังเวียดนามซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประกอบไปด้วยกังหันลมทั้งหมด 133 ต้น โดยโครงการนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นแห่งแรกใน สปป.ลาว

เอดีบีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวในการจัดการ วางโครงสร้าง และรวบรวมแพ็กเกจทางการเงินทั้งหมด ซึ่งเป็นธุรกรรมการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่เคยมีมา โดยในแพ็กเกจนั้นประกอบด้วยเงินกู้รูปแบบ A จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากแหล่งเงินทุนสามัญของเอดีบี เงินกู้เสริมพิเศษ (B loan) จำนวน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน จำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินกู้คู่ขนานจำนวน 382.55 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ การใช้เงินทุนแบบผสมผสานที่ล้ำสมัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและช่วยดึงดูดเงินทุนเชิงพาณิชย์ให้เพิ่มมากขึ้นทำให้โครงการมีศักยภาพในการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น

“ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกเผชิญกับความขาดแคลนการลงทุนด้านสภาพอากาศ ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเส้นทางสู่การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การรวบรวมเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาและธนาคารพาณิชย์ของโครงการดังกล่าวจะช่วยเชื่อมช่องว่างในการระดมเงินทุนภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทรัพยากรลมให้เป็นพลังงานที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าในภูมิภาคได้” กล่าวโดยนางซูซานน์ กาบูรี่ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเอกชนประจำเอดีบี “การจัดหาเงินทุนจากเอดีบีและพันธมิตรจะช่วยปลดล็อกแหล่งพลังงานลมที่ยังไม่เคยได้ใช้ของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน”

การผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกระหว่างประเทศเป็นเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ซึ่งการนำทรัพยากรลมที่ไม่เคยใช้มาผลิตไฟฟ้าทำให้พลังงานมีความหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากฤดูกาลของทรัพยากรลมนั้นตรงกันข้ามกับฤดูฝนซึ่งสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศอยู่แล้ว โครงการดังกล่าวยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อปีได้อย่างน้อย 748,867 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

เงินกู้ของโครงการนี้ ประกอบด้วย 1) เงินกู้เสริมพิเศษ (B loan) ได้แก่ เงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารไทยพาณิชย์ และจำนวน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Sumitomo Mitsui Banking Corporation 2) เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนที่บริหารโดยเอดีบี ได้แก่ เงินจำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Leading Asia's Private Infrastructure Fund (LEAP) และจำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Canadian Climate Fund for the Private Sector in Asia (CFPS, CFPS II) 3) เงินกู้คู่ขนานประกอบไปด้วยเงินจำนวน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น จำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารกสิกรไทย จำนวน 72.55 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย จำนวน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และจำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Hong Kong Mortgage Corporation Limited และ 4) เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก Asian Development Fund (ADF) – Private Sector Window (ADB-PSW) ของเอดีบี ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อโครงการ รวมถึงความเสี่ยงจากการจำกัดการรับซื้อไฟ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของผู้ให้กู้ยืม

“การร่วมมือกับเอดีบีเป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกควบคู่ไปกับพันธกิจขององค์กรของเราในการยกระดับความเป็นอยู่และความสุขของชุมชนท้องถิ่นที่เราทำงานอยู่” กล่าวโดยนายเป๊ก ขำขนิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด และผู้พัฒนาโครงการ “เราขอขอบคุณเอดีบี สำหรับความเป็นผู้นำในการจัดหาแหล่งเงินทุนโดยได้รวบรวมพันธมิตรทางการเงินทั้งจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารเพื่อการพัฒนา”

LEAP เป็นกองทุนที่บริหารโดยเอดีบี มีมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีพันธะสัญญากับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น กองทุน LEAP นี้ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2559 โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชนที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อีกทั้งให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และการสื่อสารที่เข้าถึงได้และราคาไม่แพงแก่ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของเอดีบี

CFPS และ CFPSII เป็นกองทุนให้กู้แบบผ่อนปรนและบริหารโดยเอดีบี โดยได้รับเงินทุนจัดตั้งจาก Global Affairs Canada จำนวน 231.5 ล้านเหรียญสหรัฐ กองทุนดังกล่าวออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวในประเทศที่มีรายได้น้อยและค่อนข้างต่ำและประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งกองทุนนี้ยังพยายามที่จะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและการเสริมอำนาจของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอีกด้วย

ADB-PSW เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติจากผู้ให้เงินทุนของ ADF ในปี 2563 ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาของภาคเอกชนในตลาดที่เพิ่งเริ่มพัฒนา โดยเสนอเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อเป็นทุนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่แก้ไขและลดข้อจำกัดทางการเงินทั่วไปอันเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรมของภาคเอกชน

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค

TAGS: #เอดีบี #เงินกู้ #โรงไฟฟ้า #พลังงานลม