ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ พร้อมชื่อย่อหุ้นใหม่ TRUE กลับมาเปิดขายในตลาดฯวันแรก 3 มี.ค. รับมูลค่า 2องค์กรกวาดตลาดรวมกว่า 2.94 แสนล.บ.ขึ้นเบอร์หนึ่งฐานลูกค้ากว่า 50 ล้านรายทั่วประเทศ
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร และ ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมาบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายหลังการควบรวมธุรกิจผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบรนด์ ทรู และ ดีแทค แล้วเสร็จอย่างเป็นทางการโดยมีมูลค่าสององค์กรรวมกันราว 2.07 หมื่นล้านบาท
พร้อมฐานลูกค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 55 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการเครือข่ายทรู 33.8 ล้านราย และ เครือข่ายดีแทค 21.2 ล้านราย จำนวนผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย ถือเป็นผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมอันดับหนึ่ง โดยครองส่วนแบ่งตลาดรวมกัน (Market Capitalization) ไม่ต่ำกว่า 2.9 แสนล้านบาท
ต่อเรื่องนี้ มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าภายหลังการควบรวมบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งแล้วเสร็จสมบูรณ์อย่างเป็นทางการ และได้หนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่ทันทื วันที่ 1 มี.ค.2566 และใช้ชื่อย่อหุ้น TRUEE พร้อมกลับมาเปิดซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 3 มีนาคม นี้
โดยนับจากนี้ไปจะดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ การมุ่งสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคม (Technology Company) เพื่อเปลี่ยนให้วิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ทรู และ ดีแทค ภายใต้องค์เดียวกันโดยจากนี้ไป จะใช้จุดแข็งจากทั้งสองฝ่ายมาซินเนอร์ยีรวมกันในทุกด้าน ทั้งการแข่งขัน การลงทุน ผลิตภัณฑ์และการให้บริการแก่ลูกค้าทรู และ ดีแทค” มนัสส์ กล่าว
ทั้งนี้ จะยึดหลักปฏิบัติตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ โดยให้แยกการทำตลาดทั้งสองแบรนด์เป็นระยะเวลาสามปี พร้อมมุ่งสร้างให้ทั้งสองแบรนด์แข็งแกร่ง
ในขณะที่โครงข่ายที่ใช้เป็นแบบโรมมิ่งโครงข่ายร่วมกันตามกฎของ กสทช. โดยสัญญาณสามารถข้ามโครงข่าย เพื่อใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 2600 MHz และ 700 MHz ส่วนลูกค้าดีแทคสามารถใช้งาน 5G บนคลื่น 2600 MHz และลูกค้าทรูสามารถใช้งาน 4G และ 5G คลื่น 700 MHz ซึ่งเปิดให้บริการแล้วในหลายพื้นที่ และจะขยายครบทั้ง 77 จังหวัดประมาณกลางมี.ค.นี้ เพื่อดูแลลูกค้าที่มีรวมกันกว่า 50 ล้านคน
นอกจากนี้ บริษัท ยังมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้คลื่นความถี่ทั้งของดีแทค และทรู ประกอบด้วย Low Band ได้แก่ 700MHz, 850 MHz, 900 MHz, Mid Band ได้แก่ 1800MHz, 2100 MHz 2300 MHz และ 2600 MHz และ High Band ได้แก่ 26 GHz มาให้บริการลูกค้า
พร้อมตั้งเป้าหมายจะขยายโครงข่าย 5G ครอบคลุม 98% ของประชากร ในปี 2569 พร้อมพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ
ด้าน ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การให้บริการต่างๆ ยังเป็นไปตามเดิมแต่จะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ในด้านต่างๆ อาทิ การเข้าถึงบริการด้านเนื้อหา (คอนเทนต์ การร่วมแพ็กเกจบริการ ระหว่างกัน เป็นต้นด้วยเป้าหมายสูงสุด คือ การส่งมอบสินค้าและบริการที่ดียิ่งกว่าเดิมสำหรับผู้บริโภค พร้อมดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและการแข่งขันที่สูงเพื่อลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ครอบคลุมถึงธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต และบริการดิจิทัล พร้อมด้วยสิทธิประโยชน์เพื่อลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
โดยในส่วนของการปฏิบัติการนั้นจะยังคงพนักงานของทั้งสององค์กรไว้ราว 2 หมื่นคน และยังใช้สำนักงานทั้งสองแห่งในทำเล อาคารทรู ทาวเวอร์ และ จามจุรีสแควร์
อนึ่งในปี 2565 ทรู มีผลประกอบการอยู่ที่ประมาณว 130,000 ล้านบาท และ ดีแทค ราว 80,000 ล้านบาท