จัดอันดับโลกเศรษฐกิจ ‘ไทย’ เติบโตน่าห่วง อีก 6 ปีเสี่ยงถดถอยสุดในรอบ 30 ปี 

จัดอันดับโลกเศรษฐกิจ ‘ไทย’ เติบโตน่าห่วง  อีก 6 ปีเสี่ยงถดถอยสุดในรอบ 30 ปี 
บัญชีจุฬาฯ ร่วม  WEF มองอนาคเติบประเทศทั่วโลก พบ ‘ไทย’ เติบโตระดับน่าเป็นห่วง  ควรเร่งพัฒนาด้านความยั่งยืน ลดเหลื่อมล้ำรายได้ คุ้มครองกฏหมาย

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า CBS เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ได้ร่วมกับ World Economic Forum (WEF) มากว่า 5 ปี ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตในอนาคตของประเทศต่างๆ ซึ่งครอบคลุม 107 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 51 

โดยอันดับหนึ่งในโลกได้แก่ประเทศ สวีเดน และตามด้วยสวิสเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก ในแถบประเทศเอเชีย ญี่ปุ่นนำโด่งในลำดับที่ 11 ตามด้วยเกาหลี (12) และสิงคโปร์ (16) ในขณะที่ มาเลย์เซียมาลำดับที่ 31 เวียตนาม 36 อินโดนีเซีย 50 และไทยลำดับ 51 จากคะแนนรวมที่ถ่วงน้ำหนักทั้ง 4 มิติแห่งการเติบโตของประเทศ

แนวทางการพิจารณาการเติบโตของประเทศ ซึ่งไม่เพียงแต่มุ่งเน้นด้านความรวดเร็วในการเติบโตเท่านั้น แต่ควรมุ่งเน้นในด้านคุณภาพของการเติบโตด้วย ซึ่งจะช่วยให้มีการสร้างความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเท่าเทียมในระยะยาว โดยปัจจัยที่สำคัญของอนาคตการเติบโตของประเทศตาม World Economic Forum ประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่                 

  1. ด้านนวัตกรรม (Innovativeness)
  2. ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness)                        
  3. ความยั่งยืน (Sustainability) 
  4. ความยืดหยุ่น (Resilience)

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งคาดว่าจะลดลงสู่อัตราที่ต่ำที่สุดในรอบสามทศวรรษภายในปี ค.ศ. 2030 ท่ามกลางผลกระทบทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้ทำให้เกิดความท้าทายระดับโลกที่รุนแรงขึ้น 

รวมถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสัญญาทางสังคมที่อ่อนแอลง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการพัฒนา ดังนั้น การมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพของประเทศต่างๆ จึงมีความสำคัญต่อการรับมือกับ ความท้าทายที่หลากหลายนี้

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวต่อไปว่า จากการเปรียบเทียบผลประเมินของประเทศไทยกับผลประเมินโดยรวมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และผลประเมินของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน พบว่าประเทศไทยมีคะแนน ด้านนวัตกรรม(Innovativeness) เท่ากับ 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม

ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness) ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.8) แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรมและรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

ด้านความยั่งยืน (Sustainability) คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 40.84 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (44.0) จึงเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience) ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤติต่างๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป

 

 

 

 

TAGS: #คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี} #จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #CBS