สหรัฐกำลังเดินมาสุดทางของมหาอำนาจแล้วใช่รึเปล่า?
อะไรคือ “เพดานหนี้”
เพดานหนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1917 โดยสภาคองเกรส ซึ่งเป็นตัวกำหนดปริมาณสูงสุดของหนี้ค้างชำระสำหรับรัฐบาลกลางสหรัฐที่สามารถก่อได้
ตัวเลขหนี้รวมของสหรัฐและเพดาน ณ เดือนมกราคม 2023 อยู่ที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สหรัฐดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทุกปีมาตั้งแต่ปี 2001 ความหมายคือรัฐบาลกลางของสหรัฐใช้เงินมากกว่ารายได้ที่รับจากภาษีและด้านอื่น ๆ
และเพื่อจะปิดช่องว่างความแตกต่างตรงนี้พวกเขาก็จำเป็นต้องกู้เงินอย่างต่อเนื่องเพื่อมาชำระหนี้ซึ่งทางสภาคองเกรสได้ให้อำนาจไว้ และการจะเพิ่มระดับเพดานหนี้ได้ก็จำเป็นต้องได้รับการลงมติเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาคองเกรสทั้งสองสภา (สหรัฐคือคนที่ใช้จ่ายเกินตัว)
บ่อยแค่ไหนที่มีการเพิ่มเพดานหนี้
การเพิ่มเพดานหนี้หรือระงับกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องยืมเงินเพื่อมาจ่ายหนี้ ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนการเพิ่มเพดานหนี้จะกลายเป็นงานประจำของสภาคองเกรส เมื่อไรก็ตามที่กระทรวงการคลังไม่สามารถจ่ายตั๋วเงินคลัง (ดอกเบี้ยเงินกู้) คองเกรสจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นเอกฉันท์ (เพื่อให้รัฐบาลมีเงินมาโปะหนี้)
ตั้งแต่ปี 1960 คองเกรสมีการเพิ่มเพดานหนี้มาแล้วทั้งหมด 78 ครั้ง ล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2021 และมี 49 ครั้งถูกทำภายใต้ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคริพับลิกัน และ 29 ครั้งมาจากพรรคเดโมแครต
โดยสภาคองเกรสสามารถเลือกที่จะระงับเพดานหนี้ได้ หรืออาจจะเลือกให้กระทรวงการคลังเข้าทำหน้าที่แทนพวกเขาในเรื่อของการจำกัดหนี้สิน ซึ่งสภาคองเกรสเคยมีการระงับการขยายเพดานหนี้อยู่ 7 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2013
ในช่วงปี 2011 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้มีการโต้เถียงกับสมาชิกสภาคองเกรสฝั่งริพับลิกันในเรื่องของการเพิ่มเพดานหนี้ที่สุดท้ายหาข้อสรุปไม่ได้และเหตุการณ์ก็ยืดเยื้อไปจนถึง 2 วันสุดท้ายก่อนรัฐบาลจะไม่มีทางเลือกถึงได้ขยายเพดานหนี้เพิ่มขึ้น
แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้นำไปสู่ความผันผวนอย่างมากในตลาดทุนของสหรัฐตลอดสัปดาห์นับตั้งแต่วิกฤตการณ์เงินปี 2008 และเป็นครั้งแรกที่สหรัฐโดนบริษัทจัดอันดับ S&P Global Ratings ลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เคยเกิดขึ้น
โดยหน่วยงานอย่างผู้สอบบัญชีของรัฐบาลกลางได้ประเมินว่าความล่าช้าของการขยายเพดานหนี้ได้นำไปสู่ต้นทุนกู้ยืนเงินที่เพิ่มขึ้นถึง 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (นั้นเป็นต้นทุนที่ถูกคิดจากแค่ 1 ปีเท่านั้น)
พร้อมกับการแบ่งข้างที่ยั่งรากฝังลึกในตลอดทศวรรษหลังของการเมืองอเมริกา ประเทศนี้ก็ได้เดินทางมาถึงเพดานหนี้อีกครั้งในปี 2013 ที่ 16.39 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพดานนี้ถูกกำหนดจากกฎหมายในปี 2011) ซึ่งการโต้เถียงเพื่อขยายเพดานในรอบนี้ของทั้งสองพรรคนำไปสู่การ Shutdown (หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ หยุดทำงานเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1-17 ตุลาคม 2013)
จนสุดท้ายกระทรวงการคลังต้องใช้มาตรการพิเศษเพื่อให้สามารถจ่ายเงินได้ โดยรัฐต่าง ๆ จะต้องชะลอการจ่ายเงินหากมาตรการพิเศษไม่สามารถผ่านได้ และเพดานหนี้ก็จะไม่ถูกเพิ่ม
ขณะที่ในปี 2021 ก็ยังคงถกเถียงกันด้วยประเด็นเดิม โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามเซ็นคำสั่งในกฎหมายขยายเพดานหนี้อีก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงปี 2023 วันที่ 16 ธันวาคม 2021
เพดานหนี้จะทำให้ตลาดปรับตัวลดลงอย่างไร
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเผยว่า การผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐจะนำไปสู่การสร้างปัญหาให้กับตลาดการเงินโลกได้ ความน่าเชื่อถือทางเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลถูกค้ำจุนผ่านความต้องการดอลลาร์สหรัฐ (ความต้องการเทียม)
ซึ่งทำให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐนี้มีสถานะเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ทั่วโลกต้องมีในทุนสำรอง และแน่นอนว่าผลกระทบใด ๆ ที่ส่งแรงกระแทกไปถึงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่จะนำไปสู่โอกาสการผิดนัดชำระหนี้หรือสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ก็ย่อมทำให้นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตรดอลลาร์สหรัฐ จนนำมาสู่การอ่อนค่าของดอลลาร์
ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2022 จากทาง IMF แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันทุนสำรองประมาณ 60% จากทุนสำรองทั้งโลกถูกถือครองอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
โดยนักธุรกิจผู้ส่งออกของสหรัฐได้ประโยชน์จากการเสื่อมค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะมันจะทำให้ความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นผ่านราคาสินค้าที่ถูกลงจากการที่สกุลเงินถูกลดค่า
แต่บริษัทเดียวกันนี้ก็จะต้องอดทนต่อต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงขึ้นด้วย และแน่นอนว่าการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไม่มีเสถียรภาพก็จะทำให้คู่แข่งที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอย่างจีนได้ประโยชน์ (อันนี้สหรัฐทำตัวเอง)
รัฐบาลมีทางเลือกอื่นไหม ถ้าไม่ขึ้นเพดานหนี้
ถ้าการต่อรองของสภาคองเกรสจบลงด้วยการไม่มีการขยายเพดานหนี้ กระทรวงการคลังก็สามารถแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ไปได้อีกหลายเดือนด้วยการใช้สิ่งที่เรีกยว่า “มาตรการพิเศษ” ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการระงับการจ่ายเงิน โครงการออมทรัพย์พนักงานราชการ การลงทุนภายใต้กองทุนของรัฐบาล และการชะลอการประมูลพันธบัตรรัฐบาลออกไป
ขณะที่กระทรวงการคลังใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหาการติดขัดในระหว่างการต่อรองอย่างในกรณีปี 2011 และ 2013 เพราะฉะนั้นสภาคองเกรสมีเวลามากเกินพอที่จะต่อรองจนนำไปสู่การขยายเพดานหนี้ออกไปก่อนมาตรการเหล่านี้จะหมดลง
ถ้าเกิดครองเกรสไม่ดำเนินการยกเพดานหนี้ผ่านมาตรการฉุกเฉินเหลานี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือ รัฐบาลกลางก็ต้องลดการใช้จ่ายลง ไม่ก็ขึ้นภาษี (หรือไม่ก็ทำทั้งสองอย่าง)
ในวันที่ 19 มกราคม 2023 เพดานหนี้ได้พุ่งแตะเพาดานอีกครั้งโดยไม่สามารถตกลงใด ๆ กันได้ กระทรวงการคลังของสหรัฐ เผยว่า น่าจะต้องมีมาตรการพิเศษออกมาเพื่อทำให้รัฐบาลยังสามารถจะนำดำเนินการต่อไปได้ถึงกระทั่งถึงเดือนมิถุนายน 2023 นี้
โดยผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายก็บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดการใช้จ่ายลงและเพิ่มการจัดเก็บภาษีควบคู่กันไปเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลกลางที่จำเป็น ขณะที่กระบวนการแบบนี้น่าจะถูกนำใช้ไปตลอดทั้งทศวรรษนี้เลย
สรุป
ดูเหมือนว่านาทีนี้ไม่ว่าสหรัฐจะเลือกทางไหนทั้งในมิติการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นหรือการลดการใช้จ่ายลงเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณต่างก็จะนำไปสู่โอกาสเกิดการผิดนัดชำระหนี้ที่จะเป็นต้นเหตุแห่งการวิกฤตเศรษฐกิจตามมาทั้งสิ้น
การเก็บภาษีเพิ่มแม้จะมุ่งไปที่เหล่าบริษัทเป็นหลักแต่นั่นก็หมายความว่ารายได้ของพวกเขาจะลดลง ซึ่งหมายถึงการจะลงทุนหรือขยายกิจการก็จะน้อยตามไปด้วย การจ้างงานจะไม่โต รวมไปถึงการเพิ่มเงินเดือนหรือให้โบนัสพนักงานก็ต่ำไปด้วยเช่นกัน
เมื่อคนไม่มีเงินก็จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะไม่คึกคัก ตรงนี้ก็ย้อนกลับไปที่รายได้และกำไรของบริษัทที่จะน้อยลงซึ่งจะไปสัมพันธ์กับราคาหุ้นบนกระดานที่จะลดลง
และเนื่องจากหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่นั้นเป็นเหมือนหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินไปด้วย ตรงนี้เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลดลงก็หมายถึงมูลค่าหลักทรัพย์ที่ใช้วางเพื่อค้ำประกันก็ถูกลดลงตามไปด้วย แบบนี้พวกเขาก็จะเข้าสู่สถานะถูกเรียกให้เพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ผ่านการเติมเงินสดเข้าไป
แต่ปัญหาคือตอนนี้บริษัทจำนวนมากไม่มีเงินสดอยู่ในมืออีกแล้ว เพราะรายได้และกำไรที่ลดลง ขณะที่บ้างบริษัทอาจจะขาดทุนอยู่ด้วยซ้ำและถ้าพวกเขาคิดจะระดมทุนผ่านวิธีการออกตราสารหนี้ พวกเขาก็จะเจอต้นทุนการกู้ยืมเงินที่สูงจากอัตราดอกเบี้ยที่กำลังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาแบบนี้ และเมื่อบวกกับสถานะของบริษัทที่ไม่ดีก็ยิ่งยากที่จะหาเงินทุนเข้าไปใหญ่
สภาวะแบบนี้จะนำไปสู่การล้มละลายของบริษัทจำนวนมากที่ไม่มีความแข็งแกร่งทางการเงินมากพอ เมื่อบริษัทจำนวนมากล้มละลายซึ่งเบื้องหลังก็หมายถึงคนทำงานตกงานไปด้วย ภาษีที่คิดจะเก็บจากพวกเขาก็จะลดลง
เมื่อภาษีลดลงนั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปของภาครัฐ ตรงนี้นำไปสู่การจะยกเพดานหนี้เพื่อก่อหนี้เพิ่มก็ลำบากไปด้วย เพราะการก่อหนี้เพิ่มหมายถึงค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยก็จะมากขึ้นในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นแบบนี้ยิ่งต้นทุนสูงขึ้นไปใหญ่
การลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐก็จะตามมา ซึ่งนาทีนี้ภาครัฐดูเหมือนจะเป็นกลไลขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือเพียงหนึ่งเดียว ถ้าพวกเขาใช้จ่ายลดลงเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็แทบไม่เหลือ
สุดท้ายพวกเขาก็อาจจะต้องกลับมาทำ QE อีกครั้งพร้อมกดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำรึเปล่า? แบบนี้เงินเฟ้อก็ยิ่งรุนแรงจากการเสื่อมค่าของเงินใช้หรือไม่ คนชนชั้นกลางก็ยิ่งลำบากเขาไปใหญ่ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ว่าจะทางไหนพวกเขาก็แทบไม่มีโอกาสรอดจากวิกฤตได้เลย
แล้วแบบนี้วิกฤตใหญ่ที่รอเราอยู่ตรงหน้านี้แล้ว คุณคิดว่ารุนแรงขนาดไหน?
อ้างอิงข้อมูล: CFR