รัฐลดค่าไฟ-ราคาน้ำมันกดเงินเฟ้อไทยติดลบเป็นเดือนที่ 4

รัฐลดค่าไฟ-ราคาน้ำมันกดเงินเฟ้อไทยติดลบเป็นเดือนที่ 4
สนค.ชี้อัตราเงินเฟ้อเดือนแรกของปี’67 ลดต่อเนื่องต่ำสุดรอบ 35 เดือน จากปัจจัยอาหารสด และมาตรการลดค่าครองชีพ ยืนยันยังไม่ถึงขั้นเงินฝืด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมกราคม 2567 เท่ากับ 106.98 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.18 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 1.11 (YoY) ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน จากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ

ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือนมกราคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง สำหรับสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ   

ทั้งนี้เมื่อเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนธันวาคม 2566 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทย ลดลงร้อยละ 0.83 ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 3 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และยังคงต่ำที่สุดในอาเซียนจาก 7 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย) สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2566 พบว่า ประเทศไทยสูงขึ้นเพียงร้อยละ 1.23 อยู่ระดับต่ำอันดับที่ 9 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของหลายประเทศที่มีทิศทางชะลอตัวจากปี 2565 ค่อนข้างชัดเจน

“เงินเฟ้อที่ติดลบในเดือนม.ค.มาจากราคาผักสดที่ลดลงเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมาตรการลดราคาพลังงาน โดยคาดไตรมาสแรกเงินเฟ้อยังติดลบเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% ส่วนกรณีปัญหาเงินฝืด นั้นแม้เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง แต่ยังมีราคาสินค้าบางรายการที่สูงขึ้น  ประกอบกับเงินเฟ้อที่ติดลบมาจากปัจจัยการลดราคาพลังงาน  ดังนั้นยังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด”

อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567

และ2.ผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1. สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น 2. เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น 3. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน

และ 4. การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวหลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทย ของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น

นายพูนพงษ์  กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 (ค่ากลางร้อยละ 0.7) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

 

 

TAGS: #เงินเฟ้อ #สนค. #ลดค่าครองชีพ #เงินฝืด