ปตท.สผ.สนใจร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

ปตท.สผ.สนใจร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
ปตท.สผ.พร้อมร่วมสำรวจพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา มั่นใจมีแหล่งพลังงานสมบูรณ์หวังไม่มีการแบ่งเส้นเขตแดน อิงโมเดล JDA ได้ประโยชน์สองฝ่าย

นายมนตรี  ลาวัลย์ชัยกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ก.พ.ในโอกาสต้อนรับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาและภริยา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  ถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะหาวิธีตกลงกันให้ได้ในพื้นที่ โดยจะไม่มีการแบ่งเส้นเขตแดน แต่ใช้รูปแบบของการพัฒนาร่วมกัน เหมือนกรณีของโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย  (Malaysia – Thailand Joint Development Area : MTJDA) หรือแหล่ง JDA เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มจากแนวคิด we agree to disagree ตกลงกันจะไม่ตกลงในเรื่องเส้นเขตแดนและมาพัฒนาร่วมกัน ก็หวังว่าจะเกิดแบบนี้

“ทุกอย่างขึ้นกับภาครัฐ จะตกลงกันได้ในลักษณะใด ทางปตท.สผ.มีแหล่งปิโตรเลียมที่ดำเนินการอยู่ใกล้ๆอยู่แล้ว ซึ่งในพื้นที่นี้ยังไม่เคยมีการสำรวจที่ชัดเจน และไม่มีการเจาะหลุม  เป็นการคาดเดาปริมาณแหล่งก๊าซฯ เมื่อเทียบกับพื้นที่ด้านล่างที่มีโครงสร้างต่อเนื่องกับแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชใน อ่าวไทย น่าจะมีศักยภาพ และต้องมีการสำรวจกันก่อน”

ทั้งนี้หากตกลงกันได้ก็ขึ้นกับภาครัฐว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ทางปตท.สผ. พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิต เนื่องจากมีแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว  ตามกระบวนการเมื่อตกลงกันได้และเปิดให้สำรวจ คาดจะมี First GAS ได้ภายใน 5 ปี จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นจึงสามารถดำเนินการสำรวจและผลิตได้รวดเร็วมากขึ้น  ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศ

นายมนตรี กล่าวถึง แหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานลงในปี 2028  นั้น หากไม่ได้ขยายอายุสัมปานออกไปอีก 10 ปี หรือ ปี 2038 หรือมีความล่าช้าก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซที่จะลดลงจากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน หวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนกรณีแหล่งเอราวัณ ที่มีความไม่ต่อเนื่องในการผลิตก๊าซฯ

 

TAGS: #ปตท.สผ. #OCA #ไทย-กัมพูชา #แหล่งเอราวัณ