เปิดแผนเชิงรุกจัดหาพลังงาน จ่อเปิดยื่นสำรวจ 9 แปลงบนบกปีนี้

เปิดแผนเชิงรุกจัดหาพลังงาน จ่อเปิดยื่นสำรวจ 9 แปลงบนบกปีนี้
กรมเชื้อเพลิงฯเดินหน้าสร้างความมั่นคงพลังงานต่อเนื่อง หนุนรัฐเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพิ่มแหล่งพลังงานใหม่ให้ประเทศ

นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึง ภารกิจของกรมเชื้อเพลิงฯในการจัดหาพลังงานในปี 2567 ว่าได้เตรียมแผนงานเชิงรุก 4 เรื่องหลัก  ได้แก่  1.การจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ โดยเร่งรัดการลงทุนของผู้รับสัญญาในแปลง G1/61(เอราวัณ) เพื่อให้เพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าในปริมาณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต) ต่อวันในเดือนเมษายน 2567

รวมทั้งประสานผู้รับสัมปทาน และผู้รับสัญญาให้แหล่งอื่นๆ ให้ผลิตตามความสามารถของแหล่ง ตลอดจนจัดหาก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และการส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

2.การจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (ครั้งที่ 25) จำนวน 9 แปลงขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการออกประกาศเชิญชวนการเปิดให้ยื่นขอสิทธิฯ โดยพื้นที่แปลงสำรวจบนบกจำนวน 9 แปลง อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แปลง และอีก 2 แปลงอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง รวมขนาดพื้นที่ 33,444.64 ตารางกิโลเมตร และคาดว่าจะสำรวจพบปิโตรเลียม ทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันดิบ

3.การเตรียมข้อมูลสนับสนุนรัฐบาลในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา โดยกรมเชื้อเพลิงฯได้ศึกษาในด้านเทคนิคของโครงสร้างธรณีวิทยาเพื่อจุดที่เหมาะสม ขณะที่การเจรจาเป็นหน้าที่ระหว่ารัฐต่อรัฐ

4.การพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยในปีนี้ กรมฯ จะเดินหน้าการจัดทําร่างกฎหมายโดยกำหนด หลักเกณฑ์ และแนวทาง ในการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

นอกจากนี้ กรมฯ จะหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการจูงใจในการสนับสนุนการลงทุนในด้าน CCUS ในอนาคต มีการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งความร่วมมือภายในประเทศ ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่บุคลากรของกระทรวงพลังงาน และ ภาคเอกชนที่สนใจ และความร่วมมือกับต่างประเทศ ได้แก่ ความร่วมมือด้านพลังงาน ไทย-ญี่ปุ่น และ ไทย-สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันภาพรวมสถานการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัมปทานรวมจำนวน 34 สัมปทาน 47 แปลงสำรวจ แบ่งเป็นสัมปทานปิโตรเลียมบนบก 14 สัมปทาน 16 แปลงสำรวจ และสัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยจำนวน 20 สัมปทาน 31 แปลงสำรวจ และมีการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) จำนวน 5 สัญญา 5 แปลงสำรวจ ในทะเลอ่าวไทย รวมทั้งมีการดำเนินการในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) จำนวน 2 แปลง

สำหรับในปี 2566 ไทยผลิตปิโตรเลียมเฉลี่ยวันละประมาณ 560,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยก๊าซธรรมชาติ ผลิตได้เฉลี่ยวันละประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์ฟุต  ต่อวัน หรือ 420,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คอนเดนเสท ผลิตได้เฉลี่ยวันละ 75,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 68,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และน้ำมันดิบผลิตได้เฉลี่ยวันละ 70,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้การจัดหาและการใช้ปิโตรเลียมในประเทศ มีการจัดหาได้วันละ 1.99 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยผลิตในประเทศได้ 5.6 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือสัดส่วน 28% และที่เหลือยังต้องนำเข้าคิดเป็นสัดส่วน 72%

ขณะที่การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในปี 2566  มีมูลค่ารวม 76,270 ล้านบาท และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง มูลค่า 44,165 ล้านบาท

“จากข้อมูลการจัดหาปิโตรเลียมในปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าประเทศยังต้องนำเข้าปิโตรเลียมมากกว่า 50% เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศได้ โดยกรมเชื้อเพลิงฯ ได้บริหารจัดการ  การจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งในประเทศ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้าน      ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่นในการจัดหาพลังงานแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังเป็นหน่วยงานที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกด้วย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่า มีรายได้เข้าประเทศ กว่า 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ส่งรายได้เข้าแผ่นดินสูงในอันดับต้นๆและคาดว่าในปี2567 จะมีรายได้ใกล้เคียงกับปีก่อน”

TAGS: #กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ #เอราวัณ #พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา