พลังงานเร่งศึกษารื้อโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟ

พลังงานเร่งศึกษารื้อโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟ
พลังงานขอเวลา 9 เดือนคาะโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ เชื่อปตท.รับผลกระทบน้อยลง หลังราคาLNG ลด ขณะที่ก๊าซฯแหล่งเอราวัณมาตามนัด

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปละกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างเตรียมว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติของประเทศให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย มีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน ไตรมาส 3-4 ในปี 2567  ซึ่งจะต้องพิจารณาในทุกมิติ ทั้งต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน ผลกระทบของ บมจ.ปตท.และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ปิโตรเคมี ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้สนพ.จะต้องตั้งโจทย์ให้ที่ปรึกษาพิจารณารอบด้าน  เนื่องจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯระยะสั้นที่ประกาศใช้ ตามมติ ครม. 19 ธ.ค.66 นั้น ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเปลี่ยนแปลงจากเดิมใช้ราคาก๊าซฯในอ่าวไทยเป็นราคาก๊าซต้นทุนเฉลี่ย จากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) (Pool Gas) ซึ่งทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)ปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ

อย่างไรก็ตามกรอบในการศึกษมองไว้ 3 กรณีหลัก คือ1. กรณีหากนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเพิ่มขึ้น มีการใช้ก๊าซอ่าวไทยน้อยลง ผลกระทบต่อเนื่องกับประเทศเป็นอย่างไร ควรจะมีการกำหนดเพดานหรือกรอบการนำเข้า LNG ในการคำนวน pool Gas  หรือไม่

2.กรณีกลับไปใช้สูตร  pool Gas  แบบเดิมที่ไม่อิงการนำเข้า LNG ราคาตลาดจร ในส่วนนี้ควรจะกำหนดกำไรของโรงแยกก๊าซฯให้เหมาะสม ถ้ามีกำไรเกินเกณฑ์ ก็ควรนำมาส่งมอบในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนและ 3.รัฐบาลควรซื้อโรงแยกก๊าซฯจาก ปตท.มาบริหารจัดการเอง ซึ่งก็จะตอบโจทย์ในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้นของ ปตท. ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ก็จะต้องเป็นสมมติฐานให้ที่ปรึกษาหาคำตอบต่อไป

สำหรับผลกระทบของปตท.จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ที่มีการประมาณการผลกระทบเบื้องต้น ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.67 ทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท.ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาท นั้น หากมองแนวโน้มราคาก๊าซฯ ผลกระทบก็อาจจะลดลง เพราะล่าสุด ราคา LNG  SPOT ที่เคยใช้คำนวณอยู่ที่ 13เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู  แต่ขณะนี้ลดลงเหลือประมาณ 9.50  เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู   ขณะที่แหล่งเอราวัณจะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ ปลายเดือนมีนาคมนี้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน อาจทำให้ การพึ่งพาLNG ลดลง ผลกระทบต่อปตท.จะลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ปตท.ได้วางแผนเพื่อหามาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การปรับแผนการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซฯ (Optimization) การเสนอแนวทางการจัดหา LNG เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกรอบราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ

ด้านคุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต ผู้เชี่ยวชาญปิโตรเลียม ได้แสดงความเห็นเป็นห่วงว่า การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯดังกล่าวาจะส่งผลกระทบมาถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แม้ว่าราคาซื้อขายวัตถุจากโรงแยกก๊าซฯ ของปตท. จะเป็นราคาอ้างอิงตลาด ไม่ใช่ราคาอ้างอิงต้นทุนก็ตาม แต่เมื่อปตท.มีภาระมากขึ้นก็อยู่ในระหว่างการเจรจากับบริษัทในเครือ ที่ใช้วัตถุดิบขอขยับราคาเช่นกัน ซึ่งเมื่อต้นทุนปิโตรเคมีขั้นต้นขยับขึ้นจะกระทบมายังอุตสาหกรรมขั้นกลาง-ขั้นปลาย ผู้ผลิตพลาสติก  ชิ้นส่วนยานยนต์ และอื่นๆ

 

 

TAGS: #โครงสร้างราคาก๊าซฯ #LNG #ปิโตรเคมี