พลังงานเดินหน้าเคาะพีดีพีใหม่ เพิ่มทางเลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ย้ำค่าไฟไทยปี 67 แนวโน้มต่ำลง ขณะที่เอกชนหนุนรัฐเร่งพัฒนาพื้นที่ OCA
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานเสวนา” ทิศทางพลังงานไทยปี 2567 “ ในงานสัมมนา THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่คาดจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนได้ภายในปลายเดือนก.พ.นี้หรือราวต้นเดือนมี.ค. ซึ่งให้ความสำคัญกับกรอบแนวทาง คือ ราคา ก๊าซธรรมชาติ ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดทั้งไฟจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และลม
รวมถึงทางเลือกคือเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปัจจุบันเป็นเจน 4-5 เป็นลักษณะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กหรือ SMR ที่จะนำมาเปิดรับฟังความเห็นด้วย ซึ่งยอมรับว่าจะได้ค่าไฟราคาถูก สะอาด เทคโนโลยี แต่การยอมรับของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มราคาพลังงานในปีนี้ อัตราค่าไฟฟ้ามีทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอนเนื่องจากก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณจะกลับมาผลิตได้เพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศฟุต(ลบ.ฟุคต)/วัน ตั้งแต่ 1 เม.ย.ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ขณะเดียวกันราคา Spot LNG ลดลงจากในอดีตที่เคยสูงระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เหลือเพียง 9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู โดยจะทำให้ให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมดีขึ้น
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการเห็นค่าไฟฟ้าของไทยที่ขณะนี้เฉลี่ยที่ 4.18 บาท/หน่วยใกล้เคียงกับเวียดนามอยู่ที่ 2.67 บาท/หน่วยและอินโดนีเซีย 2.52 บาท/หน่วยนั้น ต้องมองว่าทั้ง 2 ประเทศมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีค่าเชื้อเพลิงถูก และเวียดนามมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำส่วนหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาความมั่นคงของไฟฟ้า
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ปตท.พร้อมรับความท้าทายในรูปแบบใหม่ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผ่านการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
ตลอดจนปรับพอร์ตการลงทุนที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาด รวมทั้งการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ พลังงานคาร์บอนต่ำ พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงเคมีชีวภาพครบวงจร นอกจากนี้ ปตท. ตั้งเป้าบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าที่ประเทศกำหนดไว้อีกด้วย
นอกจากนี้สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) ซึ่งเบื้องต้นไม่ควรจะมีการแบ่งเส้นเขตแดน แต่ควรมองในเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ อาจใช้โมเดลอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่ไทย-มาเลเซีย เป็นตัวอย่างได้
อย่างไรก็ตามโมเดลในเรื่องธุรกิจคงไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนด้านการเมืองฝั่งกัมพูชาไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทางบ้านเรานี่แหละที่จะมีปัญหา เคยถูกมองว่าขายชาติบ้าง ควรต้องลด ในตรงนี้เพื่อให้เกิดข้อสรุปได้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากเห็นอัตราค่าไฟฟ้าของไทยอยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่งทางการค้าในอุตสาหกรรมเดียวกัน เนื่องจากต้นทุนค่าไฟฟ้าของไทยเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 2.67 บาท/หน่วยและอินโดนีเซีย 2.52 บาท/หน่วย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นคู่แข่งทางการค้าในอุตสาหกรรมเดียวกันทำให้การแข่งขันของไทยลดลง
ทั้งนี้ต้องการสนับสนุนให้มีการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา(OCA)เพื่อทำให้ต้นทุนไฟฟ้าลดลงได้ทันที
“ค่าไฟปีนี้น่าจะดีขึ้นก็หวังเช่นนั้น แต่คิดว่า นี่เป็นการบ้านทุกคนจะต้องปรับโครงสร้างเพื่อการแข่งขันให้ได้รวมถึงค่าไฟฟ้าเพราะกว่า 50% ของภาคการผลิตเรายังเป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิมขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ต้นทุนต่างๆขึ้นเรากระทบหมด ขณะเดียวกันเราต้องก้าวไปพลังงานสะอาดแต่ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องนี้ จะต้องทำควบค่ากัน โดยดึงการลงทุนที่ใช้พลังงานต่ำ และเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% “