กองทุนน้ำมันฯจ่ายพยุงราคายอดติดลบสะสมใกล้ 1 แสนล้าน เหตุราคาน้ำมันดิบยังสวิงหนัก ส่งผลให้มีเงินไหลออกเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยังใช้นโยบายดูแลราคาขายปลีกน้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลต่อเนื่อง โดยเฉพาะเฉพาะดีเซล ล่าสุด กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อุดหนุนราคาดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 0.73 บาท/ลิตรจากเดิมอุดหนุนที่ 4.57 บาท/ลิตรเป็น 5.30 บาท/ลิตร เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องควักจ่ายเฉพาะดีเซลวันละ 375 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 1.1หมื่นล้านบาทเมื่อหักลบกับรายได้จากกลุ่มเบนซินและชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) อีกราว1,700 ล้านบาท/เดือนทำให้กองทุนน้ำมันฯไหลออกวันละ 320.50 ล้านบาทหรือเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงมีทิศทางผันผวนในระดับเฉลี่ย 105-110 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลคาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯจะติดลบประมาณ 1 แสนล้านบาทภายในเดือนเมษายนนี้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก ทั้งจากการสู้รบในทะเลแดง และในช่วง 1-2 วัน รัสเซียและยูเครนมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นภายหลังนาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฎิเสธข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเช่นกัน แต่ล่าสุดความเคลื่อนไหวราคาเริ่มอ่อนตัวลง คงจะต้องติดตามวันต่อวัน
ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดมีฐานะสุทธิติดลบ87,828 ล้านบาท แบ่งเป็นปัญชี LPG ติดลบ 46,584 ล้านบาท บัญชีน้ำมันติดลบ 41,244 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯยังเหลือวงเงินเงินกู้ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินอีก 30,333 ล้านบาท (จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท) เพื่อการบริหารดูแลราคาดีเซล
แหล่งข่าวกล่าวว่า มาตรการดูแลดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตรจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. นี้ หากพิจารณาจากวงเงินในการดูแลราคาอาจพยุงราคาได้ถึงเดือนเม.ย. เท่านั้น โดยเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งสรุปนโยบายหรือแนวทางที่จะนำมาใช้อย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ของกองทุนน้ำมันฯต่างจากอดีตที่เป็นวิกฤติราคาน้ำมันแต่วันนี้เป็นวิกฤติสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน ส่วนการกู้เพิ่มนั้นแม้แต่สถาบันการเงินรัฐก็คงไม่สามารถดำเนินการให้ได้หากไม่มีแผนชัดเจนของแหล่งรายได้