ราคาน้ำมันชะลอตัวกดเงินเฟ้อต่ำสุดรอบ 13 เดือน โต 3.79%

ราคาน้ำมันชะลอตัวกดเงินเฟ้อต่ำสุดรอบ 13 เดือน โต 3.79%
สนค.ชี้ทิศทางเงินเฟ้อชะลอตัวเดือนมี.ค. เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภัยแล้ง-ปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ กระทบสินค้าโภคภัณฑ์ขณะที่ค่าไฟฟ้า-ราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับสูงขึ้นจะมีผลต่อการเติบโตเงินเฟ้อได้

 

นายพูนพงษ์  นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือเงินเฟ้อเดือนก.พ.เท่ากับ 108.05  สูงขึ้น 3.79% เทียบกับปีก่อน  แต่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ปรับลดลง 0.12% อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเริ่มใกล้เข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ที่กำหนดไว้ 2-3%

ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันเริ่มชะลอตัวลง ขณะที่อาหารบางประเภท โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปและอาหารสด ประกอบกับฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัวไม่มากนัก

“เงินเฟ้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ ที่อาจจะส่งผลต่อราคาพลังงานและอาหาร ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”

ทั้งนี้เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อในต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนมกราคม 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 29 จาก 139 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น 3.79% ในเดือนนี้ เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหารและหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.74%  ชะลอตัวจากเดือนม.ค. 2566 ที่สูงขึ้น 7.70 % ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูป ผักและผลไม้  ข้าวสาร ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม)

ส่วนเนื้อสัตว์ (ไก่สด ปลาทู เนื้อสุกร) ราคายังคงเพิ่มขึ้นตามต้นทุนและอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี พริกสด น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก

ขณะที่ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) วัสดุก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (ยาสีฟัน กระดาษชำระ ค่าแต่งผมชาย) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

นายพูนพงษ์  กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมมี.ค. คาดจะชะลอตัวลง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายรายการที่คาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

ขณะที่การส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์โลก และการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด จะกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตามค่าไฟฟ้าที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ราคาก๊าซหุงต้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมี.ค.นี้ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการยังคงขยายตัวได้ดี จะส่งผลให้เงินเฟ้อชะลอตัวไม่มากนัก

นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยแล้งทั้งในและต่างประเทศ อาจจะส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและจะส่งผลมายังราคาสินค้าและบริการของไทยตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 2-3 % ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

 

 

TAGS: #เงินเฟ้อ #ภูมิรัฐสาตร์ #ส่งออก #ค่าไฟฟ้า #ราคาน้ำมัน