เปิดชื่อบอร์ดกฟผ.ชุดใหม่ ก่อนเดินหน้าตั้งผู้ว่าฯ คนที่ 16ปลดล็อกสุญญากาศ

เปิดชื่อบอร์ดกฟผ.ชุดใหม่ ก่อนเดินหน้าตั้งผู้ว่าฯ คนที่ 16ปลดล็อกสุญญากาศ
ครม.ไฟเขียวบอร์ดกฟผ.‘ประเสริฐ’นั่ง ประธานตามคาด จ่อเชิญ‘เทพรัตน์’ว่าที่ผู้ว่าฯ ปรับจูนไอเดียหลักการทำงานต้องเป็นทิศทางเดียวกัน

น.ส.เกณิกา  อุ่นจิตร์  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 อนุมัติคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ดกฟผ.) ชุดใหม่ จำนวน 10 คน แทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์และขอลาออก ดังนี้

1.นายประเสริฐ  สินสุขประเสิริฐ  ปลัดกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการ

2.รองศาสตราจารย์กุลยศ  อุดมวงศ์เสรี  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ

3.พลโท เจียรนัย  วงศ์สอาด ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  กรรมการ

4.รองศาสตราจารย์ฐากูร  ศิริยุทธ์วัฒนา คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรรมการ

5.นางสาวนิรมาณ  ไหลสาธิต กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)  กรรมการ

6.นายปกรณ์  อาภาพันธุ์   ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.กรรมการ

7.นายพรพจน์  เพ็ญพาส  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการ

8.ศาสตราจารย์พิสุทธิ์  เพียรมนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ

9.นายวรากร  พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงพลังงาน)

10.นายอัครุตม์  สนธยานนท์  รองปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงการคลัง)

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน  กล่าวว่า  หลังบอร์ดกฟผ.ผ่านครม.แล้ว  ขั้นตอนหลังจากนี้คือการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่ (คนที่ 16) แทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ที่ได้ครบวาระไปแล้วในวันที่ 21 ส.ค.2566  ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป

ทั้งนี้บอร์ดกฟผ.จะเชิญนายเทพรัตน์ มาหารือถึงหลักการทำงานซึ่งต้องไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนรับทราบนโยบายของกระทรวงพลังงาน ในแต่ละเรื่องเช่น การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. ดึงคนนอกเข้ามาร่วมบริหารเพื่อความเป็นกลาง รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น

 

 

 

TAGS: #บอร์ดกฟผ. #ผู้ว่าคนที่16 #แยกสายส่ง