อุตฯสมุนไพรไทย วางแนวคิดดันสมุนไพรไทย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ รับโอกาสมหาศาลใน 3 สายพันธุ์พืชไทยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตระดับโลกได้ไม่ยาก ถ้าปลดล็อก 2 ขั้นตอนนี้ให้ไปต่อได้ตลอดซัพพลายเชน
‘ดร.สิทธิชัย แตงประเสริฐ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) ผู้ผลิต/รับจ้างผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย เปิดเผยในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรในสภาอุตสาหกรรม คนล่าสุด (ลำดับที่ 5) ว่า อุตฯพืชสมุนไพรไทยตลอดช่วงที่ผ่านมามีศักยภาพเติบโตสูงในทุกตลาดโลก จากปัจจัยความหลากหลายสายพันธุ์ และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการสกัดแปรรูป
โดยปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลกมีมูลค่า 60,165.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งสัดส่วนในภูมิภาคเอเชีย 57.6% อเมริกา 22.1% ยุโรป 22.1% ยุโรป 18% ตะวันออกกลาง 1.5% และออสเตรเลีย 0.9%
ส่วน ประเทศไทยมีการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรติดอัรนดับ 7 ของโลก ส่วนภูมิภาคเอเชีย ไทยมีขนาดตลาดสมุนไพร อยู่ในอันดับ 4 รองจาก ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งไทย ยังเป็นผู้นำการส่งออกสมุนไพรอันดับ 1 ของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม สมุนไพรไทยยังไม่ติด 1 ใน 10 ตลาดโลก ขณะที่มูลค่าการส่งออกสมุนไพรไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าสมุนไพรมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่รวมถึงธุรกิจกิจการขนาดเล็กกลางย่อมด้วย โดยประเภทสมุนไพรที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด แก่พรรณไม้ และส่วนของพรรณไม้ และประเภทของสมุนไพรที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด ได้แก่ สารสกัด
“อุตฯ สมุนไพรไทย ที่ยังไม่สามารถไปสู่ตลาดระดับโลกได้ คาดมาจาก 2 ปัจจัยหลักสำคัญที่ต้องเร่งปลดล็อก คือ 1.มาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล และ 2.การเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการเพื่อนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์และขยายกิจการ ซึ่งเป็นเพนพอยต์ที่มีมาช้านานและต้องเร่งแก้ไขไม่ให้เสียโอกาส” ดร.สิทธิชัย กล่าว
โดยในปี 2565 สมุนไพรไทยมีมูลค่าการส่งออกแบ่งออกเป็น ประเภทสารสกัดจากสมุนไพร มูลค่ารวม 13.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 480.27 ล้านบาท) เติบโต 8.2% เทียบปี 2564 มีตลาดส่งออกสำคัญ เมียนมา 32.1% สหรัฐอเมริกา 9.2% ออสเตรเลีย 7% จีน 9.7% ญี่ปุ่น 8.8% และอื่น ๆ 33.2%
ส่วนกลุ่มพืชสมุนไพร มีมูลค่ารวม 14.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 488.97 ล้านบาท) ขยายตัว 5.8% เทียบปี 2564 มีตลาดส่งออกสำคัญ จีน46.5% สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ 4.3% ญี่ปุ่น 17.4% บาร์เรน 4.1% และอื่น ๆ 4.3%
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มน้ำมันหอมระเหย มูลค่ารวม 22.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 771.05 ล้านบาท) เติบโต 33.6% มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น 19.5% อินเดีย 14.8% ซาอุดิอาระเบีย 13% และอื่น ๆ 39.1%
โดยในปี 2567 คาดการณ์ตลาดสมุนไพรในประเทศไทย จะมีมูลค่า 100,000 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง เครื่องดื่มสมุนไพรที่ได้รับความนิยม อาทิ ขมิ้นชัน กระชายขาว ตะไคร้หอม บัวบก สอดคล้องกับตลาดสมุนไพรโลกที่เติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่าในปี 2573 จะมีมูลค่ากว่า 2.7 ล้านล้านบาท ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพยา เครื่องสำอาง โดยสมุนไพรที่ได้รับความนิยม คือ ขิง กระเทียม โสม และ คาโมมายล์
ดร.สิทธิชัย กล่าวต่อถึงโอกาสในตลาดสมุนไพรสำหรับผู้ประกอบการไทย ด้วยการต่อยอดสมุนไพรเป้าหมายจากความพร้อมของงานวิจัย ไปสู่เชิงพาณิชย์ให้สามารถผลิตวัตถุดิบได้ตามความต้องการบริโภคใน 3 อันดับแรก คือ 1. ขมิ้นชัน 2. ฟ้าทะลายโจร และ 3.กระชายดำ โดยสมุนไพรสองตัวแรกมีประเทศอินเดีย และ จีน เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ส่วน กระชายดำ มองว่าไทยมีโอกาสสูงในการทำตลาดสมุนไพรกลุ่มนี้ จากปัจจัยบวกทางภูมิศาสตร์ประเทศที่เป็นแหล่งเพาะปลูกระชายดำ ได้แห่งเดียวในโลก
นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรไทยเป้าหมายอื่นๆ อาทิ กาวเครือขาว บัวบก มะขามป้อม กระชาย พริก กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ และ ไพล เป็นต้น
ดร. สิทธิชัย กล่าวต่อ นับจากนี้ไปอุตฯสมุนไพรไทยต้องเร่งสร้างมาตรฐานการผลิตระดับสากล ด้วยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ที่เพิ่มมูลค่าได้ โดยจะต้องทำงานร่วมกันทั้ง รัฐ-เอกชน ไปพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็ก ให้เข้าถึงการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา และสร้างพันธมิตรเพื่อรวมกลุ่มเข้าถึงโรงงานการผลิตขนาดใหญ่ได้มาตรฐานสากล เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่รองรับการส่งออกได้ครอบคลุมนานาประเทศ มีการพัฒนาแบรนด์ สื่อสารเรื่องราวและคุณค่า ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตและทำตลาด หรือ ซัพพลายเชน
ด้าน เมธา สิมะวรา อดีตประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ประธานกลุ่มสมุนไพรคนใหม่สานต่อภารกิจและต่อยอดแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2567 ที่วางเป้าประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ที่ได้มาตรฐาน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ต่อยอดด้วยนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล 6 ด้านได้แก่
- การส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทย จากครัวไทยสู่ครัวโลก
- การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
- เน้นตลาดในประเทศ และ CLMV
- ยกระดับการผลิตด้วยเทคโนโลยี (SMART)
- ส่งเสริมให้ส่วนภูมิภาคใช้สมุนไพรเป็นกลไกการพัฒนา
- ส่งเสริมอุตสาหกรรมสารสกัด เพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขัน โดยจะเน้นผลักดันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวเฉลี่ย (CAGR) ของประเทศไทยในช่วงที่มีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 (ช่วงปี 2560-2566) สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาเดียวกันแล้ว