สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ ปี 67 เบี้ยประกันโต 2 – 4 %

สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ ปี 67 เบี้ยประกันโต 2 – 4 %
สมาคมประกันชีวิตไทยเผยเบี้ยประกันภัยรับรวม ปี 66 เติบโต 3.61 % คาดการณ์ ปี 67 เติบโต 2 – 4 %

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2566 ระหว่าง มกราคม - ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 633,445 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.61 เมื่อเทียบกับปี 2565 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 178,470 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.06 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 454,975 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.06 

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

1.) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 112,377 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.83

2.) เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 66,093 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.18

จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 338,920 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.21 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53.50

2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 239,112 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.75

3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,808 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.19 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.86

4. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล( Digital) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 1,930 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.30

5. การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite , Walkin การขายผ่านการออกบูธ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ Direct Mail , Tele Marketing เป็นต้น เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 22,676 ล้านบาท อัตรากา เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.58 เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.58 

สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ในปี 2566 คือ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 109,786 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.33 ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงและรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (Medical Inflation) ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว รวมถึงมีการเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นรูปแบบการออมประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองชีวิต และ สิทธิการลดหย่อนภาษีที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการลดหย่อนภาษี จึงส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ในปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 17,986 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.26 หรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.84 

ส่วนในปี 2567 สมาคมประกันชีวิตไทยได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 4.0  ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 ที่สำนักงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.2 – 3.2 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสคนรักสุขภาพ อันเนื่องมาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของการเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด – 19 สายพันธุ์ใหม่ และมลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ และ มีการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) นโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของภาคธุรกิจ เช่น  AI และ Data Analytics เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสนับสนุนในทุกกระบวนการในธุรกิจประกันชีวิต ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ การเสนอขาย การพิจารณารับประกันภัย การพิจารณาสินไหม ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยให้เพิ่มสูงขึ้น

ในขณะเดียวกันในปีนี้ ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามแนวโน้ม และความผันผวน ของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์เงินเฟ้อ และตลาดหุ้นไทย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน และการใช้จ่ายของภาคประชาชน รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรคอุบัติใหม่ เพราะส่งผลต่อความต้องการและความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิตโดยตรง 

ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน โดยนำแนวคิดการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) มาประยุกต์ใช้ในการประกอบการพิจารณาลงทุนและดำเนินงานที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ESG ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตมีความยั่งยืนมากขึ้น

นอกจากนี้สมาคม ฯ มีนโยบายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ และสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนากระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจประกันชีวิต เพื่อยกระดับความ
พึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยให้มากขึ้น มีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น เรื่องการรู้เท่าทันของเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์ เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงมีนโยบาย
เชิงรุกในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน โดยทางสมาคม ฯ จะเป็นแกนกลางในการประสาน
พันธกิจทั้งในรูปแบบประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นระหว่างบริษัทประกันชีวิต กับ หน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยที่มีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งผลักดันระบบการจัดสอบและอบรมความรู้ ระบบออกใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งบริษัทสมาชิก และ บุคคลทั่วไปที่สนใจสมัตรสอบเข้าสู่เส้นทางอาชีพตัวแทนประกันชีวิต

ที่สำคัญ สมาคมประกันชีวิตไทยมีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิต มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารและจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย และมีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR Ratio) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Supervisory CAR) เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยได้ทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา ดังจะเห็นได้จาก ในไตรมาสที่ 3/2566 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนตามความเสี่ยง อยู่ที่ร้อยละ 350 ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR) จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยทุกท่านเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และยึดมั่นคำสัญญาตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในตอนท้าย

TAGS: #สมาคมประกันชีวิตไทย #เบี้ยประกันภัย