ปตท.สผ.- เชฟรอน ชนะประมูลแหล่งปิโตรฯอ่าวไทย เงินหมุนไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน

ปตท.สผ.- เชฟรอน ชนะประมูลแหล่งปิโตรฯอ่าวไทย เงินหมุนไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน
ครม.ไฟเขียวปตท.สผ.-เชฟรอนฯได้สิทธิสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยรวม 3 แปลง คาดรัฐได้ประโยชน์กว่า 2 พันล้านบาท ขณะที่ช่วงเปลี่ยนผ่านแหล่งก๊าซบงกชไร้ปัญหา

 นายสราวุธ  แก้วตาทิพย์   อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ    กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) และ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24

 

ทั้งนี้บริษัท ปตท.สผ. อีดี เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/65 และ G3/65 ขนาดพื้นที่รวม 19,515.42 ตารางกิโลเมตร และอนุมัติให้บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030.14 ตารางกิโลเมตร

 

“การเปิดประมูลครั้งนี้ทำให้การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีความต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เกิดการสร้างงาน การสร้างรายได้แก่ท้องถิ่น โดยจะก่อให้เกิดการลงทุนช่วงระยะเวลา 6 ปี เป็นเงินไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งได้รับผลประโยชน์พิเศษในรูปแบบของค่าตอบแทนการลงนาม เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศไทย และอื่น ๆ เป็นเงินประมาณ 640 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเตรียมเปิดประมูลสิทธิสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 25  เพื่อเดินหน้าสร้างแหล่งพลังงานให้กับประเทศมีความต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 9 แปลง  คาดจะสามารถสรุปวันที่ชัดเจนได้เร็วๆนี้

นายสราวุธ กล่าวว่า ในวันที่ 7-8  มี.ค.นี้ จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/61) จากระบบสัมปทานสู่ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องทันทีทุกขั้นตอนแบบไร้รอยต่อ และปัญหาใดๆ คาดว่าจะสามารถเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากกว่าเป้าหมายของภาครัฐที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต)ต่อวัน เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ลดลงของแปลง G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเดิม)

 

อย่างไรก็ตามกรมเชื้อฯเตรียมความพร้อม รองรับการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านของแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (แปลง G2/6) โดยได้มีการตรวจติดตามสภาพความแข็งแรง ปลอดภัยของสิ่งติดตั้งและทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของแปลง G2/61

 

รวมทั้งได้จัดตั้งวอร์รูม (War Room) เพื่อรองรับการบริหารจัดการสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านในลักษณะบูรณาการ ร่วมกับผู้รับสัมปทานรายเดิม ผู้รับสัญญารายใหม่ และผู้รับซื้อปิโตรเลียม มีผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติบัญชาการที่ห้องวอร์รูม พร้อมกับทีมเฉพาะกิจภาคสนาม จำนวน 3 ทีม คอยติดตาม ควบคุมสถานการณ์อย่างใกล้ชิดบนแท่นผลิตในทะเลอ่าวไทย

 

 

“หลังจากแหล่งบงกช เปลี่ยนเป็นระบบPSCจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้ ปรับลดลงประมาณ 107-152 บาทต่อล้านบีทียู จากเดิมราคา 279 - 324 บาทต่อล้านบีทียู ลดลงเหลือ 172 บาทต่อล้านบีทียู คิดเป็นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพของราคาก๊าซธรรมชาติที่จะนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ลดต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และลดผลกระทบเกี่ยวกับราคาค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ด้วย”

 

อย่างไรก็ตามแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช ​เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้สร้างรายได้ให้แก่รัฐในรูปแบบค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และรายได้อื่น ๆ (ค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต) เป็นมูลค่ากว่า 230,000 ล้านบาท และจะยังคงสร้างรายได้ และความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต

TAGS: #ปตท.สผ. #เชฟรอน #แหล่งปิโตรเลียม #ก๊าซธรรมชาติ #อ่าวไทย