ดัชนีผลผลิตฯหดตัวเศรษฐกิจฟื้นช้า ชี้ยานยนต์เป็นปัจจัยลบ

ดัชนีผลผลิตฯหดตัวเศรษฐกิจฟื้นช้า ชี้ยานยนต์เป็นปัจจัยลบ
สศอ.แจงดัชนี MPI ม.ค. หดตัว 2.94% เหตุภาคยานยนต์ ยอดขายลด ตัวเลขรถถูกยึดสะสม 2.5 แสนคันสูงสุดในรอบ 5 ปี จากปัญหาหนี้ครัวเรือน มองบวกทั้งปี MPI-GDP โต 2-3%

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94 %เมื่อเทียบกับม.ค.66 ซึ่งอยู่ที่ 102.15  และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต(CAPU) อยู่ที่  59.43% ลดลงเมื่อเทียบกับ ม.ค. 66 อยู่ที่ 62.65% โดยมีปัจจัยสำคัญจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงทำให้เป็นภาระต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการส่งผลให้เกิดการระมัดระวังการใช้จ่าย

ทั้งนี้ 3 อุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อMPI ม.ค. 67 หลัก มาอุตสาหกรรมรถยนต์ ลดลง 9.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)พบว่ามีรถถูกยึดเฉลี่ย 2.5 แสนคันแล้วหรือเฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นคันเป็นยอดสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถกระบะเนื่องจากสภาพคล่องครัวเรือนไม่ดี ไม่สามารถผ่อนชำระได้ รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้รถมือสองเต็มตลาด ส่วนรถใหม่มีการชะลอซื้อ

ด้านการส่งออกรถยนต์ยังมีปัญหาเรือขนส่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอทำให้กระทบการส่งออกลดลง ซึ่งแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ยังอาจจะยังกดดันต่อMPI ในระยะต่อไปอีก 2-3 เดือน

นอกจากนี้ยังมาจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน   6.45%   จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นของผู้ผลิตบางรายทำให้จำหน่ายน้ำมันในประเทศลดลง  ขณะที่ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.71% ตามภาวะตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัวจากการหดตัวในปีก่อน

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนมกราคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำแร่ น้ำดื่ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.16 จากน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นหลัก โดยความต้องการบริโภคขยายตัวหลังสภาพอากาศร้อนขึ้น รวมถึงมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า

ด้านปุ๋ยเคมี ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 58.68 เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับลดลงและสินค้าเกษตรราคาดี ส่งผลให้เกษตรกรมีกำลังซื้อปุ๋ยมากขึ้น รวมถึงได้แหล่งนำเข้าแม่ปุ๋ยจากหลายประเทศทำให้มีวัถตุดิบสำหรับผลิตมากขึ้น และ       เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.00 โดยขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักสำคัญอย่างฮ่องกงและอังกฤษ รวมถึงฐานต่ำในปีก่อน 

“ยังต้องจับตามองปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดและจะฉุดรั้งให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาด ปัญหาด้านดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อที่อาจกดดันให้ห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงักส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน

ในขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ จำเป็นต้องจับตามองปัญหาภาระหนี้สินภายในประเทศที่มีระดับสูงทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร” นางวรวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตามในปี 2567 สศอ.ยังคงประมาณการ MPI และGDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตคงเดิมที่ 2-3% เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกของไทยม.ค.ขยายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4  เศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นศก.รัฐ ท่องเที่ยวขยายตัว งบประมาณปี67ที่อาจจะเบิกจ่ายเร็วขึ้น ฯลฯ

 

TAGS: #ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม #ยานยนต์ #หนี้ครัวเรือน