หลังท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาสดใสอีกครั้ง นายหญิงแห่ง AWC ‘วัลลภา ไตรโสรัตน์’ เตรียมกำงบลงทุน 5 ปีกว่า 1.26 แสนล้านบาท ทำโครงการใหม่-ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 70 โปรเจกต์เพื่อรองรับอนาคต
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์โรงแรม, อาคารสำนักงานและค้าปลีก ระดับโลก เปิดเผยว่าหลังการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) AWC ล่าสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บอร์ดมีมติอนุมัติงบการลงทุนใน 5 ปี (2567-2571) อยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท หรือใช้งบลงทุนต่อเนื่องราว 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
“งบลงทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้งในส่วนของการทำแผนลงทุนในโครงการเดิมจากปีก่อนหน้า และนำมาลงทุนต่อเนื่องในปีถัดไปเป็นการโรลล์-เอาต์ บัดเจ็ตต่อเนื่องจากปีก่อนที่ลงทุนไปแล้วด้วย” วัลลภากล่าว
70 โครงการใน 5 ปี
สำหรับใน 5 ปีนับจากนี้ บริษัทวางแผนขยายโครงการอสังหาริมทรัพย์ทุกกลุ่มให้เติบโตเพื่อรองรับการฟื้นตัวจากการเดินทางและท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม และค้าปลีก ทั้งการพัฒนาปรับโฉมแนวคิดใหม่ในโครงการเดิมที่มีอยู่ และการต่อยอดขายพื้นที่ในโครงการใหม่
โดยอีกหนึ่งในโครงการค้าปลีกสำคัญที่อยู่ระหว่างพัฒนาในขณะนี้ โครงการมิกซ์ยูส ‘เวิ้งนาครเขษม’ มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.66 หมื่นล้านบาท วางตำแหน่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ประกอบด้วยโรงแรม 2 แห่ง คือ
- อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ไชน่าทาวน์ (ใกล้เยาวราช) จำนวน 332 ห้อง ภายในมีบาร์ฟิตเนส สระว่ายน้ำ พื้นที่อเนกประสงค์รองรับการจัดอีเวนต์ขนาด 1,400 ตร.ม. และห้องประชุม 8 ห้อง กำหนดเปิดปี 2569
- โรงแรมไลฟ์สไตล์-บูติก (ยังไม่ระบุแบรนด์) (ใกล้เยาวราช) จำนวน 63 ห้อง ดัดแปลงมาจากอาคารพาณิชย์ดั้งเดิม สูง 4 ชั้น (ยังไม่กำหนดช่วงเวลาเปิด)
รวมถึงโครงการที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า พร้อมด้วยศูนย์อาหารเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และไฮไลต์แลนด์มาร์คโครงการฯ ‘เจดีย์ทองคำ’ สูง 8 ชั้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวนักเดินทางจากทั่วโลก
นอกจากนี้ AWC ยังมีแผนใช้ที่ดินอีก 7 แปลงในจังหวัดเชียงใหม่ ขยายโครงการใหม่ ๆ เพิ่มอีก 3 โรงแรมใหม่ระดับคุณภาพ สวนน้ำ และอื่นๆ เพื่อนำมาเชื่อมต่อกับโครงการ ‘ลานนาทีค’ (LANNATIQUE) มูลค่ารวมกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วย 10 โครงการในเบื้องต้น เพื่อวางตำแหน่งสู่การเป็นแลนด์มาร์คและจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ระดับภูมิภาคของไทยได้อย่างยั่งยืน โดยมีแผนนำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไปในระดับโลก ด้วย
“แผนลงทุน 5 ปีของ AWC นับจากนี้คาดจะเปิดตัวไม่ต่ำกว่า 70 โครงการฯ ซึ่งจะเติมโครงการค้าปลีกใหม่ๆ เข้ามาในพอร์ตมากขึ้น โดยใช้ที่ดินที่มีอยู่และการทำสัญญาใช้สิทธิที่ดินในการพัฒนาโครงการฯ โดยมุ่งให้ความสำคัญในทำเลเมืองท่องเที่ยวจังหวัดกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ชะอำ หัวหิน และในจังหวัดเมืองรอง” วัลลภา กล่าว
พร้อมเสริมต่อถึงแผนดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทเตรียมแผนเปิดตัว 6-7 โครงการใหม่ ประกอบด้วย
- โรงแรมแฟร์มอนต์ กรุงเทพ สุขุมวิท (Fairmont Bangkok Sukhumvit) แห่งแรกในประเทศไทย วางตำแหน่งเป็นโรงแรมรองรับการประชุมสัมมนาระดับหรู (Luxury Mice) บนทำเลสุขุมวิท
- โรงแรม พัทยา มาริออท รีสอร์ต แอนด์ สปา แอท จอมเทียนบีช (Pattaya Marriott Resort & Spa at Jomtien Beach) รีสอร์ตลักซูรี่ระดับโลก รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว และธุรกิจ
- โรงแรมระดับหรูแบรนด์ใหม่ ‘ Vignette’ (วีนแยทท์) อยู่ภายในโครงการมิกซ์ยูส ‘อควอทีค พัทยา’ (Aquatique Pattaya) โครงการมูลค่าการลงทุนกว่า 1หมื่นล้านบาท
- ศูนย์ประชุมสัมมนาแห่งใหม่ในรูปแบบนวัตกรรมการจัดงานฯ (Innovative Mice) ที่ Chiang Mai Marriott Hotel (เฟส 2)
- EA Chef's Table (เอ-ย่า) ห้องอาหารอิตาเลี่ยนรูฟท็อปที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บนตึกเอ็มไพร์ สาทร จะเปิดตัวในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นี้
- โครงการค้าปลีก ‘พันธุ์ทิพย์ ไลฟ์สไตล์ ฮับ’ (The Pantip Lifestyle Hub) จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ AWC ยังร่วมกับพันธมิตระดับโลกต่าง ๆ อาทิ ดิ โอกุระ ออน เดอะ ริเวอร์ (The Okura on the River) บริการฮอสพิทัลลิตีด้วยแนวคิดรูปแบบเรือโอริกามิ (Origami Boat) คาดเปิดให้บริการกลางปี 2568 และ ‘Koelnmesse’ ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกจากเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี และผู้จัดงาน Anuga งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก ร่วมพัฒนาเครือข่ายค้าส่งของ AWC (WHOLESALE ECO-SYSTEM) สำหรับศูนย์การค้า AEC ประตูน้ำ ไปสู่เครือข่ายระดับโลก พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น’ครัวโลก’
วัลลภา กล่าวว่าจากแผนลงทุนดังกล่าวยังสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) ของ AWC แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- NEAR-TERM Growth การเติบโตจากทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ในช่วงระยะเวลาอันใกล้
- MEDIUM-TERM Growth การเติบโตจากทรัพย์สินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นทรัพย์สินดำเนินงาน
- LONG-TERM Growth การเติบโตจากการลงทุนในแผนพัฒนาสำหรับการเติบโตระยะยาว ด้วยการเร่งแปลงทรัพย์สินระหว่างพัฒนามาเป็นทรัพย์สินดำเนินงาน ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของทรัพย์สินช่วงดำเนินงานเริ่มต้น (Ramp Up) มาสู่ระดับดำเนินงานปกติ (Mature) เพื่อสร้างกระแสเงินสดและเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานอย่างยั่งยืน
ปี 66 AWC โตแกร่งทุกมิติ
สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา AWC มีผลประกอบการแข็งแกร่ง ด้วยรายได้รวมทั้งปีอยู่ที่ 19,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY) และเหนือกว่าก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 รวมถึงมีผลการดำเนินงานที่ทำนิวไฮสูงสุดใน 5 ด้าน
- กำไรสุทธิเติบโตก้าวกระโดดถึง 5,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 (YoY)
- มีกำไรจากการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจ (BU EBITDA) สูงถึง 10,639 ล้านบาท ตามงบการเงินซึ่งรวมมูลค่ายุติธรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY) โดยยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจตามงบการเงินได้อย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยสี่ปีย้อนหลัง (2563-2566) อยู่ที่ร้อยละ 74 ต่อปี โดยกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการสามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยความสามารถในการสร้าง
- รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) เติบโตสูงสุดที่ 3,658 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.8
- มีรายได้เฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate: ADR) เท่ากับ 5,661 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YoY)
- ปี 2566 เป็นปีที่บริษัทฯ ได้สร้างการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติกว่า 14,000 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินดำเนินงานใหม่ 9 โครงการ ประกอบไปด้วยโรงแรม 3 แห่ง และห้องอาหาร 6 แห่ง เพื่อสร้างกระแสเงินสดและเพิ่มศักยภาพในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานอย่างยั่งยืน และทรัพย์สินที่ได้รับการอนุมัติให้ลงทุน อาทิ การลงทุนในโรงแรมพลาซ่า แอทธินี นิวยอร์ก รวมมูลค่าพอร์ตทรัพย์สินทั้งหมดอยู่ที่ 146,799 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 โดยคิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินดำเนินงานอยู่ที่ 108,202 ล้านบาท