‘หม่าล่า’ รสชาติอาหารที่มีต้นตำรับมาจากประเทศจีน เทรนด์อาหารมาแรงแซงทุกโค้งในวงการร้านอาหารเมืองไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนเป็นคำค้นหาฮิตติดแฮชแทค #หม่าล่า ในแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล ไปแล้ว
โดยในปี 2567 นี้ ร้านอาหารแนวหม้อไฟกลุ่มชาบูรวมแนวปิ้งย่าง คาดปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท แบ่งคร่าวๆ ออกเป็นตลาดชาบู-สุกี้มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือราวๆ 9 พันล้านบาท จะเป็นตลาดปิ้งย่าง ด้วยยังเป็นเทรนด์การบริโภคที่ถูกจริตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ตลาดร้านอาหารแนวชาบูและปิ้งย่างในไทย ยังไปได้ต่ออีกไกล ทำให้เกิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาท้าชิงในตลาดกลุ่มนี้
รวมถึงการเข้ามาของแบรนด์ ‘อี้จาสุกี้หม่าล่า’ ภายใต้การดำเนินธุรกิจของ บริษัท เนชั่นแนล เวิลด์ กรุ๊ป จำกัด ที่เข้ามาทำตลาดร้านอาหารหม้อไฟและปิ้งย่างพร้อมจุดเด่นเมนูเริ่มต้นไม้ละ 5 บาทเสิร์ฟบนสายพาน ที่ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ในเกือบทุกสาขาจำนวน 22 แห่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
The Better ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 2 ผู้บริหารร้านอี้จาสุกี้หม่าล่าร่วมบอกเล่าแนวคิดการทำธุรกิจร้านอาหารที่ประสบความสำเร็จเกินคาดในช่วงระยะเวลาเพียง 2 ปี ด้วยมายด์เซ็ต ‘เรียบง่ายแต่ทว่าตั้งใจ’ กับการทำตลาดที่จริงใจในกลุ่มลูกค้า
เริ่มต้นจาก ‘คนทำทัวร์’
ธนวรรธน์ ชินประภากร ผู้ก่อตั้งร้านอี้จาสุกี้หม่าล่า ย้อนที่มาธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อราว 2 ปีก่อน โดยเริ่มจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอาหารมาก่อนแต่อย่างใด ซึ่งธุรกิจนี้เกิดขึ้นจากจังหวะที่ลงตัวมากกว่า ด้วยก่อนหน้านี้ตัวเองทำธุรกิจทัวร์บริการท่องเที่ยว และได้มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองเฉิงตู ประเทศจีน พร้อมได้สัมผัสกับเมนูอาหารท้องถิ่นแนวสุกี้หม้อไฟ ‘หม่าล่า’ ยี่ห้อหนึ่งที่เปิดให้บริการมานานร่วม 10 จนถึงปัจจุบันมีสาขามากกว่า 100 แห่งในประเทศจีน
ธนวรรธน์ บอกว่าหลังจากลองรับประทานเมนูหม้อไฟเผ็ดชาอันร้อนแรงแล้ว เกิดความสนใจอยากนำโมเดลธุรกิจนี้มาเปิดให้บริการในประเทศไทยบ้าง ด้วยมองเห็นโอกาสตลาดร้านอาหารแบบสายพานที่เมืองไทยยังมีไม่มากนัก บวกกับในช่วงนั้นมีเพียงร้านอาหารหม้อไฟแนวหม่าล่าอยู่ราว 1-2 แบรนด์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ เข้ามาทำตลาดและมีราคาค่อนข้างสูง
“เราเห็นช่องว่างธุรกิจการทำร้านอี้จาสุกี้หม่าล่าในไทย ด้วยจุดเด่นการเสิร์ฟวัตถุดิบ เนื้อสัตว์ ผัก ต่าง ๆ บนสายพาน และให้บริการหม้อจุ่ม/เตาปิ้งย่าง แบบส่วนตัวเฉพาะให้กับผู้เข้ามารับประทานอาหารในร้าน ซึ่งอี้จาสุกี้หม่าล่าได้เข้ามาในปี 2565 หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปเล็กน้อย เป็นช่วงที่ผู้คนยังห่วงใยมาตรการความปลอดภัยการบริโภคอยู่มาก เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้อี้จาฯ ได้การตอบรับดี” ธนวรรธน์ ขยายภาพให้เห็นชัดขึ้น พร้อมเสริมต่อถึงที่มาแบรนด์ ‘อี้จาสุกี้หม่าล่า’ ที่ใช้ในการทำตลาดครั้งนี้
โดยคำว่า ‘อี้จา’ ในภาษาจีนท้องถิ่นนั้นหมายถึง ‘ครอบครัว’ ส่วนคำว่า ‘หม่า’ หมายถึง ‘ซ่า’ และ ‘ล่า’ แปลว่า ‘เผ็ด’ เมื่อนำทุกคำมารวมกันจะให้ความหมายว่า ‘สุกี้เผ็ดชาของครอบครัว’ เพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และครอบครัว ที่สนใจเทรนด์การบริโภคแบบส่วนตัวแต่ยังสามารถรับประทานอาหารร่วมกันได้แบบกลุ่มพร้อมกัน
‘อี้จ้าสุกี้หม่าล่า’ ยังมีจุดเด่นด้านบริการวัตุดิบพร้อมเสิร์ฟ เนื้อสัตว์ และ ผัก ต่างๆ ที่นำมาจัดเรียงไว้บนสายพาน มากกว่า 100 ไอเทม ด้วยราคาเริ่มต้นไม้ละ 5 บาท เพื่อให้ลูกค้านำไปปิ้งย่าง หรือ จิ้มลวกในน้ำซุปสูตรต่างๆ ที่มีให้เลือกมากกว่า 8 สูตร อาทิ น้ำซุปหม่าล่า ที่มีระดับความเผ็ดทั้งแบบปกติ หรือ จะเผ็ดชา(มาก), น้ำซุปกระดูกหมู/ไก่, น้ำซุปมะเขือเทศ และน้ำซุปเห็ดหอม เป็นต้น และเมื่อนำมาบวกกับน้ำจิ้มสูตรเฉพาะด้วยแล้ว ก็จะได้รชาติอาหารที่มีเอกลักษณ์จนเป็นที่ถูกปากผู้บริโภคชาวไทย
พร้อมเล่าเกร็ดสนุกอีกว่า รสชาติน้ำซุปของร้านอี้จาสุกี้หม่าล่า ยังได้ถูกนำมาปรับปรุงเพื่อให้ถูกปากกับผู้บริโภคชาวไทยได้มากที่สุด ด้วยหากเป็นรสชาติต้นตำรับจริงๆ จะให้ความเผ็ดชาร้อนมากกว่านี้อีก 50% ซึ่งก็จะเหมาะกับวิถีการผู้บริโภคคนท้องถิ่นชาวจีนต้องรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกายเมื่อเผชิญกับฤดูหนาวที่เยือกเย็นมาก
นอกจากนี้ยังแนะนำเคล็ดลับการรับประทานอี้จาสุกี้หม่าล่า ด้วยการปรุงน้ำจิ้มจากส่วนผสมต่างๆที่วางเรียงรายบนชั้นมากกว่า 20 เครื่องปรุงรสนั้น หากลูกค้าต้องการความสนุกก็สามารถปรุงน้ำจิ้มได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าต้องการมาตรฐานความอร่อยแบบต้นตำรับแนะนำให้พนักงานปรุงให้ ซึ่งจะมีทั้งแบบสูตรของทางร้านและสูตรเสฉวน
เกิดสาขาวัชรพล โตที่บรรทัดทอง
ด้าน ปภรรณศ พรพัชรกมล ผู้ร่วมก่อตั้ง อี้จาสุกี้หม่าล่า กล่าวในฐานะประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการ (COO) บริษัท เนชั่นแนล เวิลด์ กรุ๊ป จำกัด ว่า ปัจจุบัน อี้จาสุกี้หม่าล่า เปิดให้บริการทั้งสิ้น 22 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ อยุธยา โคราช พัทยา จันทบุรี และ เชียงใหม่ ทั้งในรูปแบบบริษัทลงทุนขยายสาขาเอง จำนวน 12 สาขาและ ในรูปแบบแฟรนไชส์ 10 สาขา
“อี้จาสุกี้หม่าล่า เปิดสาขาแรกย่านวัชรพล ในวันแรกเลยทำยอดขายได้ หกพันบาทเท่านั้นเอง แต่เราเชื่อว่ายังมีโอกาสในตลาดนี้ที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก จากนั้นถัดไปอีก 2-3 เดือนได้เปิดสาขาที่ 2 ย่านบรรทัดทอง ซึ่งสาขานี้เองที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอี้จาฯ จากกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ให้การตอบรับอย่างมากที่มาเสาะหาร้านอาหารแนวหม้อไฟหม่าล่าแบบสายพาน จนสร้างปรากฎการณ์ต่อคิวรอรับประทานอาหารให้เกิดขึ้นที่นี่” ปภรรณศ กล่าว
โดยหลังดำเนินธุรกิจอี้จาสุกี้หม่าล่า มานาร่วม 1 ปีครึ่งในปัจจุบัน บริษัทได้ขยายสาขาใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่กระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ก่อนนำไปสู่การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ด้วยในขณะนี้
ปภรรณศ กล่าวว่า “ผู้สนใจลงทุนแฟรนไชส์อี้จาสุกี้หม่าล่านั้น จะใช้งบลงทุนที่แตกต่างกันออกไปตามขนาดและรูปแบบการให้บริการซี่งจะมีทั้งแบบบุฟเฟ่ต์ อลาคาร์ท บริการหม้อไฟอย่างเดียว หรือ มีปิ้งย่างด้วย ซึ่งอี้จาฯ จะให้ความสำคัญอันดับแรกกับทำเลที่เปิดร้านทั้งของบริษัทลงทุนเองและแฟรนไชส์ เป็นคีย์สำคัญในการทำธุรกิจ ”
พร้อมเสริมต่อว่า จากจุดเริ่มต้นวันแรกที่มียอดขายหลักพันเท่านั้น ถึงในวันนี้ อี้จ้าสุกี้ สามารถทำได้ดีเกินความคาดหมายไปค่อนข้างมาก ทั้งจากการเติบโตของสาขาและยอดขายเฉลี่ยราว 150-200 หม้อต่อสาขาต่อวัน และมีการใช้จ่ายต่อคนประมาณ 250-300 บาท
ต่อความสำเร็จธุรกิจอี้จาสุกี้ นั้น ‘ปภรรณศ’ บอกว่ามาจากความลงตัวของส่วนประกอบหลายๆด้านที่มาในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ทั้งจากกระแสเมนูหม่าล่าที่มาแรงและต่อเนื่องถึงในปัจจุบัน ที่นำมาให้บริการในรูปแบบที่เหมาะเจาะกับการบริโภคของผู้คนยุคใหม่ ทั้งแบบกลุ่มและเน้นฉายเดี่ยว รวมถึงความจริงใจในด้านราคา ที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกกำหนดเองได้จากการเลือกหยิบแต่ละเมนูวัตถุดิบที่เสิร์ฟบนสายพาน และที่สำคัญ ‘ทำเล’ ที่เปิดให้บริการตามที่กล่าวข้างต้น
พร้อมรวมถึงวัตถุดิบอาหารที่สดใหม่เพื่อนำมาให้บริการแก่ลูกค้าในทุกวัน ด้วย อี้จาสุกี้หม่าล่า จะคำนึงถึงคอนเซปต์ความสุขจากการกินพร้อมกันทั้งครอบครัวที่จะต้องมีความอร่อยเป็นสิ่งสำคัญตามความหมายของชื่อร้านด้วย
ปภรรณศ กล่าวว่าแนวทางการทำธุรกิจอี้จาสุกี้จากนี้ไป จะมุ่งให้ความสำคัญในการบริหารและควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการเป็นหลักจากสาขาทั้งหมดที่มีอยู่ มากกว่าการขยายสาขาเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ หรือ 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมคุณภาพของร้านได้เท่าเทียมกันหมดในระดับเดียวกับสาขามาสเตอร์ของบริษัท
โดยไปพร้อมกับการศึกษาและเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหารของลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อนำกลับมาปรับปรุงธุรกิจให้มีความแข็งแกร่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับในอนาคตที่อาจมีการขยายธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในช่วงจังหวะที่เหมาะสมอีกเช่นกัน
ภาพ-จิระศักดิ์ จิวะวัฒนาวนิช