ครม.เคาะแล้ว!!! ตั้งเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16

ครม.เคาะแล้ว!!! ตั้งเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16
เปิดประวัติ‘เทพรัตน์’ผู้ว่าการกฟผ.ป้ายแดงคลุกคลีในวงการพลังงานมานาน จับตาภารกิจใหญ่เร่งฟื้นความเชื่อมั่นองค์กร โดยเฉพาะปัญหาสภาพคล่องจากการดูแลค่าไฟ

นายคารม พลพรกลาง  รองโฆษกประจำสนักนายกรัฐมนตรีเปิดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วาระพิเศษ มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่21 สิงหาคม 2566

ทั้งนี้นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 เกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2508 ปัจจุบันอายุ 58 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์ สาขา Electricity Industry Management and Technology มหาวิทยาลัยสแตรธไคลด์ (University of Strathclyde) สหราชอาณาจักร อีกทั้งยังผ่านการอบรมในหลักสูตรสำคัญมากมาย อาทิ หลักสูตร Advanced Management Programจาก Harvard Business School สหรัฐอเมริกา หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรหลักสูตร Senior Executive Program จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน จากสถาบันวิทยาการพลังงาน หลักสูตรผู้นำผู้สร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้บริหารระดับสูง จากสถาบันพระปกเกล้า

ด้านประวัติการทำงาน ปี 2560 - 2561 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ ปี 2561 - 2563ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และปี 2563 - ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ ประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่

อย่างไรก็ตามตามระเบียบของกฟผ.วาระการทำงานของนายเทพรัตน์ จะเริ่มนับอายุการทำงานตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการและสิ้นสุดในวันที่อายุครบ 60 ปี  ซึ่งหมายความว่านายเทพรัตน์ มีเวลาในทำงานตำแหน่งผู้ว่าการกฟผ.ถึงวันที่  31 ก.ค. 2568   โดยมีเวลาไม่ถึง 2 ปี เนื่องจากในวันที่ 31 ก.ค. 2567 จะมีอายุ 59 ปี แล้ว

สำหรับภารกิจสำคัญที่นายเทพรัตน์ จะต้องเข้ามาสานต่อ คือการปรับโครงสร้างบุคคลากร ตั้งแต่ฝ่ายบริหารระดับบนจนถึงระดับฝ่ายมีตำแหน่งที่รอการพิจารณา อีก  51 ตำแหน่ง ขณะเดียวกันต้องเร่งแก้ปัญหาสภาพคล่องกฟผ.ซึ่งมีภาระจากการเข้าไปดูแลค่าเอฟทีให้ประชาชนยังมีวงเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท จะวางแนวทางการบริหารอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบเงินลงทุนในระยยาว เพราะที่ผ่านมาได้มีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการพยุงค่าไฟฟ้าไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท  จนอาจทำให้เกินเพดานหนี้สาธารณะได้

ขณะเดียวกันยังมีมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เรื่องให้แยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า(System Operator) หรือ  (SO) ออกจาก กฟผ. โดยตั้งเป็นหน่วยงานอิสระหรือนิติบุคคลเพื่อความเป็นกลางเป็นอิสระจากกิจการผลิตไฟฟ้า ทำหน้าที่ในการควบคุมสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่เชื่อมต่ออยู่กับระบบโครงข่ายของประเทศตามหลักการประสิทธิภาพและต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม  ซึ่งในประเด็นนี้ต้องยังมีข้อถกเถียงกัน ในเรื่องความเป็นอิสระจะทำได้จริงแค่ไหน เพราะปัจจุบันการทำงานของSO ถือว่ามีความเป็นอิสระมากที่สุดไม่สามารถแทรกแซงได้ แม้กระทั่งโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง หรือแม้แต่กระทรวงพลังงานก็ไม่สามารถสั่งการอะไรได้ รวมถึงบุคคลากรที่จะทำงานในส่วนนี้ต้องเป็นมืออาชีพสามารถรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทุกกรณี

 

 

 

TAGS: #เทพรัตน์ #เทพพิทักษ์ #ผู้ว่าการ #กฟผ.