รมว.อุตสาหกรรม ปลุกเสือตื่นยานยนต์ไทยตอบรับยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ปักหมุดฐานผลิตภูมิภาคขึ้นแท่น 1 ใน 10 ของโลก
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในงานเสวนา “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” (Dailynews Talk 2024) “เช็กความพร้อมยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเท็นโลก อย่างยั่งยืน ในเรื่อง “ยุทธศาสตร์ยานยนต์ไทย สู่…ท็อปเท็นโลก”ว่า ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีลักษณะที่โดดเด่นคือ มี Supply Chain ที่เข้มแข็ง มีคลัสเตอร์ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั่วประเทศ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ยานยนต์ หรือ Maker เอง แต่แบรนด์ใหญ่แทบทุกรายมาตั้งฐานการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของภูมิภาค ส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ทั้งด้านการลงทุน การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งออก
ขณะที่ข้อมูลสถิติชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถึงจุดอิ่มตัว (mature stage) แล้ว คือ ในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตยานยนต์ของไทยค่อนข้างคงที่ ประมาณ 2 ล้านคันบวกลบเล็กน้อย แบ่งเป็นขายในประเทศประมาณ 1 ล้านคัน และส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน
นอกจากการที่ไม่เติบโตเป็นเหมือนเสือหลับแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยังต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่น การขับขี่อัตโนมัติ รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งนำมาของกระแสรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่างๆเหล่านี้ ส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและโลกในอนาคต ปัจจุบันจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก
ดังนั้นในเวลานี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ที่จะปลุกให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นเสือหลับให้ตื่นกลับมายืนฉายแสงในภูมิภาคอีกครั้ง ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งระบบ เพื่อให้ไทยยังรักษาฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะทันกระแสของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่โตก้าวกระโดดและไม่ตกจากเวทีโลก ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายสอด รับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือ บอร์ด EV ซึ่งปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเองเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้วิสัย ทัศน์
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในปี 2573 หรือที่เรียกว่า “แผน30@30” คือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 หรือปี 2030 โดยรถยนต์ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แบ่งตามประเภทรถยนต์ดังนี้รถยนต์ไฮบริด มูลค่าส่งเสริมการลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท
รถยนต์ปลัก-อิน ไฮบริด มูลค่า 10,000 ล้านบาท และรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่า 40,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยมาตรการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าช่วยผลักดันให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในปี 2566 สูงถึง 76,000 คัน สอดคล้องกับมติ ครม. รัฐบาลชุดนี้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ มาตรการ EV3.5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญให้เติบโตต่อเนื่อง
สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น คือ การขับเคลื่อนแผน 30@30 ในส่วนของการผลิตที่เหลืออีก 70% คือการพัฒนาการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้เห็นชอบมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้วยการส่งเสริมการผลิต รถยนต์ ICE ให้เปลี่ยนผ่านไปรถยนต์กึ่งไฟฟ้าได้แก่รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลัก-อิน ไฮบริด ซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และ มีเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นทางเลือก ช่วยลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยมลพิษได้มากขึ้นรวมทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงาน
อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเป็นหน่วยงานหลัก มุ่งให้เกิดการพัฒนาสู่การเปลี่ยน ผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดและพร้อมก้าวเดินไปพร้อมกับภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็ยัง ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้ยืนหยัดในการพัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือตื่นและผงาดอยู่ในท็อปเทนของฐานการผลิตยานยนต์โลกได้อีกครั้ง พร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังต่อไปแน่น