ชี้ส่งออกเริ่มแบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว

ชี้ส่งออกเริ่มแบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว
KKP ชี้ส่งออกเริ่มแบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว แนะเร่งปรับโครงสร้าง ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เผยภาคส่งออกที่พัฒนามาค่อนข้างมากและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากว่า 30 ปีกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ข้อมูลสินค้าส่งออกสำคัญของไทยเริ่มแสดงถึงปัญหาของภาคส่งออกที่กำลังอ่อนแรงใน 3 ประเด็น คือ

1. ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าโลกเก่า กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าที่โลกมีความต้องการลดลงเรื่อย ๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและความต้องการของตลาด ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถดึงดูดและพัฒนาเทคโนโลยีของสินค้าที่เข้ามาทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาปและชิ้นส่วนยานยนต์ ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า, Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามกระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

2. ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ Smart phone, semiconductor, และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

3. สินค้าที่ยังพอมีโอกาสเป็นกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต และมีมูลค่าเพิ่มไม่มากนัก เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด) อย่างไรก็ดี ความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนเปลี่ยนไป และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก โดยสินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าวมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในขณะเดียวกัน เห็นได้ชัดว่าประเทศคู่แข่งเริ่มปรับเปลี่ยนโครงสร้างสินค้าส่งออกไปเป็นสินค้าใหม่ ๆ มากขึ้น เช่น เวียดนามได้กลายเป็นฐานการส่งออก Smartphone แผงวงจรไฟฟ้า และ Solar cell ในตลาดโลกมากขึ้น หรือมาเลเซียที่หันมาส่งออกสินค้าโลกใหม่ เช่น SSD มากขึ้นในตลาดโลก และเริ่มลดการส่งออกสินค้าโลกเก่าอย่าง HDD ลง

ยิ่งกว่านั้น อีกด้านหนึ่งเศรษฐกิจไทยยังถูกตีตลาดจากจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่ไทยพึ่งพาจีนในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าหลายชนิด จีนผลิตได้เองในต้นทุนที่ถูกกว่าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายมาที่ไทยโดยตรง KKP Research มองว่าปรากฎการณ์นี้กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น

1) ความสามารถในการแข่งขันที่ยิ่งลดลง จากการที่ภาคการผลิตของไทยแข่งยากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกของจีนที่ราคาถูกกว่า ทั้งสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์ 2) มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกไทยลดลง เหตุจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ผู้ประกอบการจีนจึงโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing) รวมถึงไทย เช่น การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ในภาพรวมเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาเซลล์จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยน้อยมาก ดังนั้น หากแนวโน้ม Re-routing ขยายวงกว้างขึ้นไปยังสินค้าอื่น ๆ จะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศ ไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม และ 3) จีนเข้ามาทำธุรกิจในไทยโดยตรงมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจและเข้ามาเจาะตลาดในไทยโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่น ๆ โดยในปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย  ในแง่หนึ่งการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยเองต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้น

ความท้าทายนี้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 มิติ คือ (1) ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง จากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่าครึ่งหนึ่งมาจากภาคการส่งออกสินค้า (2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงตกงานหรือรายได้ไม่โต (3) ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะยาว

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางออก KKP Research แนะนำว่าผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่ต้องหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น รวมไปถึงดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ เพื่อเสริมให้ศักยภาพที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ ควรมีการประเมินและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ จากการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

TAGS: #ส่งออก