บอร์ดกพช.นัดสุดท้ายเคาะรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม 3,668.5 เมกะวัตต์ พร้อมเลื่อนใช้โครงสร้างค่าไฟใหม่ หวังช่วยลดผลกระทบวงกว้าง
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมรับทราบแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2)
ทั้งนี้กำหนดให้มีปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม รวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 6.5 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ยังเห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 ซึ่งจะเป็นการรับซื้อต่อเนื่อง ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ดำเนินการเปิดรับซื้ออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ที่สนใจยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ภายใต้ระเบียบและประกาศในปัจจุบัน
การรับซื้อเพิ่มเติมจะเปิดรับซื้อจากก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และสำหรับขยะอุตสาหกรรม (ในรูปแบบสัญญา Non-Firm) มีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 20 -25 ปี ราคา FiT เดิมตามปริมาณข้างต้น
อย่างไรก็ตามการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมนี้จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในระบบไฟฟ้าของประเทศ ไม่มีค่าความพร้อมจ่าย (AP) ไม่เพิ่มระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองให้สูงขึ้น ราคาถูกไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน
ทั้งนี้ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากสปป.ลาว ระยะเวลา 27 ปี ได้แก่โครงการน้ำงึม 3 จำนวน 468 เมกะวัตต์ และโครงการ เซกอง 4A และ 4B จำนวน 347 เมกะวัตต์ หากจำเป็นต้องมีการแก้ไข PPA ที่ไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่ระบุไว้ในร่าง PPA และเงื่อนไขสำคัญ รวมทั้งการปรับกำหนดเวลาของแผนงาน (Milestones) ที่เกี่ยวข้องกับกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในช่วงก่อนการลงนาม PPA ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ในการแก้ไข
สำหรับโครงสร้างอัตรค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2564 – 2568 ซึ่งได้ปรับปรุงข้อมูลและหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ใกล้เคียงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันมากที่สุดเห็นควรให้คงอัตราค่าไฟฟ้าฐานเท่าเดิม สำหรับค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าความต้องการพลังไฟฟ้า ในการกำหนดค่าไฟฟ้าขายปลีก และคงอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง
รวมทั้งเลื่อนการบังคับใช้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะจำแนกค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐออกจากค่าไฟฟ้าฐานและค่าเอฟทีออกไป เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าในวงกว้าง สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤติพลังงานและการจัดหาก๊าซธรรมชาติแหล่งอ่าวไทยที่คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปี 2567
นอกจากนี้ให้ชะลอการจำแนกค่าไฟฟ้าสาธารณะออกจากค่าไฟฟ้าฐาน และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าสาธารณะที่ครบถ้วน เพื่อจำแนกค่าใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน เหมาะสมในทางปฏิบัติในระยะต่อไป
ขณะเดียวกันกำหนดให้การดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส โดยการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมแปร์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ที่การไฟฟ้าได้ตรวจสอบสิทธิของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ให้มีความซ้ำซ้อน และผู้ใช้ไฟฟ้าได้มีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับบิลค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป และให้นำค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส เป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรายได้ (Revenue Requirement) ของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้าตามนโยบาย กพช. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558