แกร๊บ กับ 2กลยุทธ์สำคัญในปี66 ล้างขาดทุน 1.7 พันล.เหรียญ ฯ ในตลาดอาเซียน

แกร๊บ กับ 2กลยุทธ์สำคัญในปี66 ล้างขาดทุน 1.7 พันล.เหรียญ ฯ ในตลาดอาเซียน
แกร๊บ วาง 2 กลยุทธ์หลักในปี2566 ปลดล็อคขาดทุน 1.7 พันล้านเหรียญฯ ใน8ประเทศอาเซียน แผนปีนี้ลุยธุรกิจ4 บียู ขยายกำลังซื้อระดับพรีเมียม พร้อมเปิดบริการ ‘Airport Ride’ รับนักเดินทางตั้งแต่สนามบิน

แกร๊บ (Grab) ผู้ให้บริการซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 500 กว่าเมือง 8 ประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และ ไทย 

ล่าสุด วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ใช้สำนักงานแกร๊บ ประเทศไทย ชั้น 16 อาคาร The Parq เปิดแผนธุรกิจปี 2566 โดยระบุว่าแกร๊บ ดำเนินธุรกิจในไทยเป็นเวลา 10 ปี จากจุดเริ่มต้น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเดินทาง พร้อมขยายสู่บริการเดลิเวอรี และบริการทางการเงินดิจิทัล ในปัจจุบัน และจากนี้แกร็บ จะยังมุ่งพันธกิจ Grab For Good เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

2 กลยุทธ์หลัก ล้างขาดทุน 1.7 พันล. เหรียญฯ

โดยในปี 2566 แกร๊บ ได้วาง 2 กลยุทธ์สำคัญ  คือ  ‘Power of Superapp’ และ ‘Operational Efficiency’ การเชื่อมโยงและผสานการทำงานของทุกธุรกิจภายในอีโคซิสเต็ม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งบริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ  โดยจะขับเคลื่อน  4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ

1.บริการการเดินทาง

2.บริการเดลิเวอรี (รับส่งอาหาร สินค้าและพัสดุ)

3.บริการทางการเงิน

4.บริการสำหรับองค์กร

เพิ่มบริการใหม่เจาะนักเดินทางตั้งแต่สนามบิน

วรฉัตร ขยายแผนงานทั้ง 4 กลุ่มธุรกิของแกร๊บ ประเทศไทย โดยในส่วนของบริการการเดินทาง (Mobility) จะมุ่ง 3 ด้านหลัก คือ

ด้านที่ 1.ยกระดับมาตรฐานสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัย ด้านที่ 2. ขยายการให้บริการในกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เตรียมกลับเข้ามายังประเทศไทยในปีนี้ ไม่ต่กว่า 28 ล้านคน โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

“แกร๊บ ประเทศไทย อยู่ระหว่างพัฒนาการให้บริการด้านการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวที่เรียกว่า ‘Airport Ride’ เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีกับนักเดินทางท่องเที่ยวแต่สนามบิน ที่นอกจากการพัฒนาฟีเตจอร์แอปฯ สำหรับชาวต่างชาติแล้ว ยังรวมไปถึงห้องพักรับรอง หรือ เลานจ์ ในสนามบินสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย” วรฉัตร กล่าว

และด้านที่ 3. ขยายการให้บริการในตลาดพรีเมียม อีกหนึ่งซ็กเมนต์การทำตลาดลูกค้าที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายสูง โดยแกร๊บเตรียมจัดแคมเปญพิเศษเจาะตลาดกลุ่มนี้ พร้อมเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์คนขับที่ให้บริการเรียกรถด้วยรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้สามารถตอบรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับ บริการเดลิเวอรี (Deliveries) จะมี 3 ไฮไลท์สำคัญ คือ

1.ด้านคุณภาพ ทั้งร้านอาหารบนแพลตฟอร์มและการให้บริการ โดยการันตีร้านอร่อยชื่อดังด้วย ซับแบรนด์ #GrabThumbsUp ที่ปัจจุบันมีกว่า 9,000 ร้านค้าที่ได้รับสัญลักษณ์ ดังกล่าว จากจำนวนร้านอาหารกว่าแสนราย

2.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งอาหารและสินค้า ด้วยเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบแผนที่ และระบบคำนวณเวลารออาหาร เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และลดเวลาในการจัดส่งสินค้า

3.เน้นสร้างฐานสมาชิกและความภักดีของผู้ใช้บริการ ผ่านแพ็คเกจสมาชิก GrabUnlimited ด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์และส่วนลดที่ครอบคลุมทุกบริการของแกร็บ

สำหรับบริการทางการเงิน (Financial Services) จะส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางเงินให้กับพาร์ทเนอร์คนขับ-ร้านค้า อาทิ การขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับพาร์ทเนอร์ร้านค้าสูงสุดถึง 500,000 บาท ให้บริการสินเชื่อสำหรับผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ เช่น ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ รวมไปถึงให้บริการผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำหรับบริการเรียกรถผ่านแอปฯให้กับพาร์ทเนอร์คนขับ และผู้ใช้บริการ

4. บริการสำหรับองค์กร (Enterprise) ผลักดันบริการซูเปอร์แอปสู่ภาคธุรกิจ ผ่าน Grab for Business โซลูชันช่วยบริหารจัดการทุกบริการ และค่าใช้จ่ายของแกร็บสำหรับลูกค้าองค์กร

นอกจากนี้ แกร๊บ ประเทศไทยจะยังเตรียมทำตลาดโฆษณาเชิงรุกเต็มรูปแบบ ผ่าน GrabAds สื่อโฆษณาบนซูเปอร์แอปอย่าง Grab  เพื่อช่วยให้นักการตลาดสามารถเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและแม่นยำ

ตลาดต่างจังหวัดโตทะลุ 3 เท่าตัว

วรฉัตร กล่าวอีกว่า หลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในช่วงที่ผ่านมา และเห็นสัญญาณบวกจากแนวโน้มการเติบโตในทุกธุรกิจของแกร็บ ประเทศไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง  และบริการการเดินทาง

โดยในปีที่ผ่านมาแกร็บ ได้รับการรับรองแอปพลิเคชันจากกรมการขนส่งทางบก ทำให้ปัจจุบันบริการการเดินทางของแกร็บกลับมามียอดใช้บริการมากกว่าช่วงก่อนโควิด และหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ยอดใช้บริการในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ สูงถึง 152%

ส่วนบริการเดลิเวอรี ยังคงได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้สถานการณ์โควิดจะดีขึ้นตามลำดับ จากความคุ้นเคยการสั่งอาหาร/สินค้าออนไลน์/ออนดีมานด์ของผู้บริโภค

โดยบริการแกร็บฟู้ด ยังเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งในปีที่ผ่านมาเติบโตสูงกว่าในกรุงเทพฯ ถึง 3 เท่า และบริการแกร็บมาร์ท ซึ่งพบว่าแนวโน้มการสั่งสินค้าประเภทของสดยังเติบโตมีสัดส่วนเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าทั้งหมด

สำหรับ บริการทางเงิน แกร๊บได้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อาทิ บริการสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับพาร์ทเนอร์คนขับ บริการ PayLater เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริหารจัดการด้านการเงินให้กับผู้ใช้บริการ

วรฉัตร กล่าวว่า “ในปี 2566 แกร๊บยังวางเป้าหมายให้การดำเนินธุรกิจทั้ง 8 ประเทศในปีนี้ สามารถพลิกกลับมามีรายได้หลังจากขาดทุน (Net Loss)ในปี 2565 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วย2 กลยุทธ์หลักที่กล่าวข้างต้น จากปัจจุบันมีการทำธุรกรรมต่อเดือนรวมไม่ต่ำกว่า 32.7 ล้านรายต่อเดือน”