ยอดติดโซลาร์รูฟท็อปคึกคักรับหน้าร้อน หวังช่วยลดภาระค่าไฟ

ยอดติดโซลาร์รูฟท็อปคึกคักรับหน้าร้อน หวังช่วยลดภาระค่าไฟ
ทิศทางการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขยายตัวต่อเนื่องทั้งบ้านและโรงงานอุตสาหกรรมคาดปีนี้โตมากสุด 25 % จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดเพื่อลดภาระค่าไฟ หวังรัฐปลดล็อกรง.4 เพิ่่มความคล่องตัวติดตั้งเร็วขึ้น

 

นายปิยะศักดิ์ พิเชษฐนาวิน อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)ในเดือนพ.ค.-ส.ค.67 ที่อาจจะเฉลี่ยอยู่ในระดับ 4.18 บาท/หน่วยประกอบส่งผลให้ประชาชน และโรงงานภาคอุตสาหกรรมมีความตื่นตัว หันมาติดระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ค่อนข้างมากเพื่อลดรายจ่าย  โดยคาดการณ์ภาพรวมในปี 2567 การติดติดตั้งโซลาร์รูฟในส่วนของบ้านประชาชนจะเติบโตในระดับ 20-25% จากปีก่อน ส่วนอาคารโรงงานต่างๆจะเติบโต 10-15% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงจากประเมินไว้ต้นปีมาก

ปัจจุบันประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟฯมากขึ้นเฉลี่ยบางวันเป็น 100 หลังคาเพื่อลดค่าใช้จ่ายค่าไฟในระยะยาว  ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีไปไกลมากติดตั้งง่ายและที่สำคัญราคาการติดตั้งช่วงนี้ต่ำสุดเท่าที่เคยมีมา  เพราะอุปกรณ์ต่างๆพัฒนาได้ถูกลงและทันสมัยโดย 1 เมกะวัตต์ลงทุนราว 20 ล้านบาทบวกลบ หลังคาบ้านเฉลี่ยแสนต้นๆ บ้านเล็กหน่อยก็หลักหมื่น ขณะที่ระบบการบำรุงรักษาก็ดีหากเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ติดตั้งซึ่งสมารถติดต่อสมาคมฯได้เพราะมีมาตรฐาน ซึ่งประชาชนหลายส่วนอยากติดตั้งแต่ติดปัญหาไม่มีเงินตอนนี้มีผู้ประกอบการบางรายมีโมเดลแบบให้สินเชื่อแล้วผ่อนจ่ายก็เริ่มเข้ามามากขึ้น 

สำหรับกรณีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) อยู่ระหว่างการแก้ไขกฏหมายปลดล็อคโซลาร์รูฟท็อปไม่ต้องเช้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาติประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับภายในปี 2567 นับเป็นเรื่องที่ดีซึ่งการติดตั้งระบบโซลาร์ปัจจุบันมี 3 รูปแบบคือ 1. โซลาร์รูฟฯบนหลังคาบ้านครัวเรือนของประชาชนซึ่งมุ่งเน้นที่จะติดตั้งเพื่อใช้เองเพื่อลดรายจ่ายเป็นหลักซึ่งการปลดล็อครง.4 ก็จะช่วยให้ง่ายขึ้นและจะทำให้ประชาชนได้รับโอกาสในการพึ่งพาตนเองและเป็นพลังงานสะอาด

2.โซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาอาคาร โรงงานอุตสาหกรรม กรณีนี้ผู้ผลิตไฟต้องผลิตไฟใช้เองห้ามขายไฟย้อนกลับ และหากจะขายจะต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนมากซึ่งทำให้ยาก เพราะการไฟฟ้ามีความกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่อประสิทธิภาพระบบไฟฟ้า  จึงตั้งเงื่อนไขลักษณะควบคุม ทั้งที่ระบบไฟฟ้าควรจะต้องเป็นพลังงานสะอาดที่มากขึ้นตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในการพิ่มขีดแข่งขันเพราะสามารถลดต้นทุนแต่ยังตอบโจทย์เทรนด์โลกสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการถึงเวลานั้นการส่งออกของไทยก็จะลำบากหากปล่อยให้ยืดเยื้อ

 3.โซลาร์ฟาร์ม (Solar Farm)   ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งการลงทุนนั้นย่อมมุ่งเน้นสร้างผลกำไรซึ่งในแง่นี้รัฐควรจะพิจารณาจัดเก็บรายได้บางส่วนเพราะหากกำไรสูงแล้วค่าไฟฟ้าแพงสุดท้ายจะไปตกที่ประชาชนอยู่ดี

“ต้องเข้าใจว่ารง.4 นั้นเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4 ขั้นตอนหลักๆ ในการดำเนินงานการขอตามระเบียบยังมีขั้นตอนต่างๆ อีก ดังนั้นการขออนุญาตผ่านอีกหลายหน่วยงานต่างๆ หากรัฐสามารถดำเนินการให้เร็วขึ้น สะดวก ง่ายขึ้น นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดเพราะการเสียเวลาที่นาน ก็จะเจอภาระดอกเบี้ย บางทีก็เสียโอกาสไปเลยก็มี” นายปิยะศักดิ์กล่าว

TAGS: #โซลาร์รูฟท็อป #หน้าร้อน #ภาระค่าไฟ