เกาะติดเลือกประธานส.อ.ท.คนใหม่ ‘เกรียงไกร’-‘สมโภชน์’ใครจะคว้าเก้าอี้

เกาะติดเลือกประธานส.อ.ท.คนใหม่ ‘เกรียงไกร’-‘สมโภชน์’ใครจะคว้าเก้าอี้
ส.อ.ท.เตรียมเลือกประธานคนที่ 17 นัดประชุมสามัญประจำปี 25 มี.ค.นี้  เกรียงไกร – สมโภชน์ คะแนนยังไม่ทิ้งห่าง ลุ้น 366 เสียงโหวตตัดสินอนาคต

รายงานข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)   เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มี.ค.นี้จะมีการประชุมสามัญประจำปี 2567 และเลือกคณะกรรมการส.อ.ท.วาระปี 2567-2569 โดยเฉพาะการเลือกตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ 17   ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญของปีนี้ เนื่องจากมีบุคคลที่เสนอตัวมาชิงตำแหน่ง 2 ราย คือ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานคนปัจจุบัน กำลังจะหมดวาระสมัยที่ 1 (วาระปี 2565-2567) ซึ่งเป็นวาระครั้งละ 2 ปีตามปีปฏิทินและยังคงเสนอตัวเป็นประธานส.อ.ท.อีก 1 สมัย(วาระปี 2567-2569 ) รวม 4 ปี

 

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมานายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA  ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่งเป็นรองประธาน ส.อ.ท. ได้แถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการเสนอตัวขอเข้ามาลงชิงตำแหน่งประธานส.อ.ท. ด้วย โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ในฐานะประธานกิติมศักดิ์ส.อ.ท.เป็นผู้สนับสนุนอย่างเปิดเผย

 

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกประธานส.อ.ท.นั้น ดำเนินงานตามพ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530  ซึ่งผู้ที่มีสิทธิในการเลือกประธานส.อ.ท.มาจากคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการประเภทเลือกตั้ง ซึ่งมาจากผู้แทนสมาชิกสามัญในการประชุมสามัญประจำปี จำนวน 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด มีจำนวน 244 คน  2. คณะกรรมการประเภทแต่งตั้ง  มาจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76  สภาอุตสาหกรรมจังหวัด คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีจำนวน 122 คน  เมื่อรวมคณะกรรมการทั้ง 2 ประเภทส่งผลให้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวม 366 คน

 

 

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาธรรมเนียมปฏิบัติประธานส.อ.ท.มีวาระครั้งละ 2 ปี และสามารถเสนอเป็นอีก 1 สมัย รวม เป็น 4 ปี ซึ่งนายเกรียงไกรมีสิทธิใช้โอกาสนี้ได้ เพื่อเป็นประธานส.อ.ท.สมัยที่ 2 แต่เมื่อนายสมโภชน์ ออกมาประกาศขอลงชิงตำแหน่งด้วย ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของการลงเลือกตั้งครั้งนี้มีสีสันขึ้นมา

 

ทั้งนี้หากมองศักยภาพนายเกรียงไกรอยู่กับส.อ.ท.มากกว่า 10 ปี โดยพยายามผลักดัน ONE FTI เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อให้เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม 4.0 วางนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เสนอนโยบายภาครัฐที่จะนำมาซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นายสมโภชน์ เข้ามาร่วมงานกับส.อ.ท.เมื่อปี  2561 เดิมเคยเป็นประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม (ส.อ.ท.), ประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. รวมไปถึงการดำรงตำแหน่งกรรมการ ในคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ และธุรกิจ EA สังเกตได้ว่ามีประสบการณ์ในด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานทดแทนและนวัตกรรมอนาคต อย่างยานยนต์ไฟฟ้า (EV)

เมื่อจับกระแสของคะแนนเสียงแต่ละฝ่ายถึงวันนี้ก็ยังไม่สารถฟันธงได้แน่ชัดว่าใครจะได้คะแนนเสียงมากกว่า  เพราะแต่ละฝ่ายก็มีฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน โดยนายเกรียงไกร ยังมีกลุ่มฐานเสียงจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมส.อ.ท. 46 เพราะต้องการให้การทำงานมีความต่อเนื่อง
ด้านนายสมโภชน์ ได้รับการสนับสนุนจากนายสุพันธุ์ และน่าจะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มพลังงาน  รวมถึงการเดินสายกับบรรดาสมาชิกส.อ.ท.ตามต่างจังหวัดต่างๆ ที่ต้องพยามจูงใจให้หันมาเลือก ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรนั้น หลังมีการลงคะแนนแล้ว จะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกเป็นประธานส.อ.ท.อย่างเป็นทางการได้ภายใน 30 วัน แต่ถ้าเห็นรายชื่อของคณะกรรมการชุดใหม่ก็พอจะมีสัญญาณให้ทราบว่าใครเป็นผู้ชนะเลือกตั้ง 

TAGS: #ประธานส.อ.ท. #เกรียงไกร #สมโภชน์