แบงก์ซีไอเอ็มบี ลุ้น กนง. ​ลดดอกเบี้ย

แบงก์ซีไอเอ็มบี ลุ้น กนง. ​ลดดอกเบี้ย
แบงก์ซีไอเอ็มบี คาดจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ทำให้ กนง. ​ลดดอกเบี้ย จากเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ - การส่งออกมีติดลบ

นายอมรเทพ​ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจ​ไทย​รายเดือนกุมภาพันธ์​ที่รายงานจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ แล้วค่อนข้างเชื่อว่าทาง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)คงอยากลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่​ 10 เมษายน​นี้จาก​ 3 ปัจจัย

1. ปัจจัยระยะสั้น -​ เศรษฐกิจ​ไทยไตรมาสแรกและอาจโยงไปไตรมาสสองน่าจะออกมาอ่อนแอ​ เราเคยมองว่าไตรมาสแรกอาจโตไม่ถึง​ 1% เทียบปีก่อน​ แม้จะขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาสจากรายได้การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เดียวที่ติดอยู่ช่วสนับสนุน​ แต่การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอมาก​ การผลิตก็ย่ำแย่​ ภาครัฐก็ขาดงบมาใช้จ่าย​ แม้จะมีงบประมาณในเดือนเมษายนและเร็วกว่าที่เคยคาดว่าจะมาในเดือนพฤษภา​คม​ แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะยังไม่ออกมาตรการกระตุ้น​เศรษฐกิจ​ หรือมาตรการลดค่าครองชีพแบบวงกว้าง​ และอาจรอไปรวมงบปี​ 68 เพื่อออกมาตรการดิจิตอล​วอลเล็ตปลายปีแทน​ ซึ่งช่วงครึ่งแรกจะยังน่าห่วง​ การลดดอกเบี้ยก็เพื่อประคองเศรษฐกิจ​ไม่ให้ทรุด​ แต่ไม่ใช่การเร่ง​ อีกทั้งผลการลดดอกเบี้ยจะเห็นจริงก็อีก​ 6 เดือน​ (กว่าดอกเบี้ยจะลง​ คนมากู้มาใช้จ่าย​ เกิดการจ้างงาน​ การผลิต​ การบริโภค​ เงินหมุนเวียน)​

2.ปัจจัยระยะยาว​ -​ เรากลับมาทบทวนศักยภาพ​การเติบโตของเศรษฐกิจไทยใหม่แล้ว พบว่าเรามีแนวโน้มจะโตต่ำลงไปเรื่อยๆ​ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างจากการขาดการลงทุน​ ขาดแรงงาน​ สังคมสูงวัย​ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าปรับสมดุลย์​ใหม่ให้เข้ากับบริบทเศรษฐกิจ​ไทยที่โตได้ต่ำลง​ 

3.ปัจจัยพิเศษ​ -​ ค่าเงินบาทอาจมีมูลค่ามากเกินไป​ หรือ​ overvalued เห็นอีปครั้งจสกการส่งออกที่ไม่รวมทองคำเดือนล่าสุดแทบไม่โต​ การส่งออกเสี่ยงขยายตัวต่ำ​ การลงทุนขาดแรงจูงใจ​ สินค้าไทยขาดความสามารถ​ใน​การแข่งขัน​ 

โดยสรุป​ ผมว่าเราน่าเห็นการสื่อสารของธปท.มากขึ้น​ และไม่ใช่เพื่อตอบสนองภาครัฐ​ แต่เพื่อปรับเปลี่ยนกับสถานการณ์​ปัจจุบัน​ ผมห่วงในประเด็น​ 'น้ำทะลักเขื่อน'​ ที่เคยเขียนไป ว่าหากการสื่อสารไม่ชัดเจนหรือมีนักลงทุนอยากเก็งกำไร​ หรือตลาดไล่ต้อนแบงก์ชาติให้ลดอัตราดอกเบี้ยต่อ​ รวมทั้งอยากเห็นบาทอ่อนแรงไปมากกว่านี้ เราอาจจะกำลังเห็นการเปิดประตูเขื่อนของพฤติกรรมเหล่านี้ในวันที่​ 10 เมษายน​ อย่างที่ผมเคยเขียนว่าลดดอกเบี้ยครั้งเดียวไม่พอ​ น่าสองครั้งติดกัน​ และอาจต้องลดอีกลากยาวในลำดับถัดไปยิ่งหลังเฟดลดดอกเบี้ย​ ส่วนบาทอาจยืนที่ระดับ​ 37​ บาทต่อดอล​ลาร์สหรัฐ​ปลายปีนี้​ แต่ผมก็กังวลว่าหากบาทจะอ่อนขึ้นมา​ ตัวเลข​ที่​ 40​ จะต้านอยู่ไหม

TAGS: #แบงก์ซีไอเอ็มบี