ส่องโมเดลน้ำมันปาล์มแดง สร้างมูลค่าเพิ่ม รับแผนเลิกชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ

ส่องโมเดลน้ำมันปาล์มแดง สร้างมูลค่าเพิ่ม รับแผนเลิกชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ
สกนช.ศึกษาศักยภาพเชื้อเพลิงชีวภาพต่อยอดสร้างมูลค่า ชี้น้ำมันปาล์มแดงทางเลือกเกษตรกร รองรับแผนยกเลิกชดเชยราคาในอนาคต

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้จัดเวทีเสวนา“สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพและทิศทางการปรับตัว”ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช  โดยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความรู้และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การเตรียมพร้อม กับการเริ่มบังคับใช้นโยบายลดการจ่ายเงินชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่ได้ระบุไว้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการขยายระยะเวลาการชดเชยรอบแรกไปแล้วถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 ส่วนจะมีการขยายเวลาในครั้งที่สองอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงาน

ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหน้าที่หลักในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ภารกิจหนึ่งที่ทำมาต่อเนื่องคือการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล (บี100) เพื่อสนับสนุนให้ลดการนำเข้าน้ำมัน และช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชพลังงาน

แน่นอนว่าหากมีการยกเลิกการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งหมายถึงเอทานอล ที่ผสมในน้ำมันเบนซินและ บี100 ผสมในน้ำมันดีเซล ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน  ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้ในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทางสกนช.ได้พยายามศึกษาศักยภาพของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เพื่อหาแนวทางต่อยอดรองรับกับการยกเลิกการชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งโครงการผลิตน้ำมันปาล์มแดงของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  นับเป็นโมเดลในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปาล์มน้ำมันได้เป็นอย่างดี

              

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)  กล่าวว่า โครงสร้างราคาน้ำมันและน้ำมันชีวภาพในอดีตผ่านมา อยากให้เห็นถึงการคำนวณต้นทุนราคาน้ำมันตั้งแต่ราคาหน้าโรงกลั่น กรณีกลุ่มน้ำมันเบนซิน ใช้เอทานอลที่ผลิตจากโรงงานน้ำตาล และมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมเป็นแก๊สโซฮอล 10% และ 20% ถ้าไม่ผสมเอทานอลต้นทุนน้ำมันดิบกลั่นอยู่ที่ 22.62 บาทต่อลิตร ถ้าผสมก็จะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นเรื่อยๆ จนถึง E85 จึงต้องใช้กองทุนน้ำมันฯไปดูแลราคาไม่ให้สูงเกินไป

ขณะที่น้ำมันดีเซลใช้ไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันเป็นส่วนผสม ทั้ง บี 7 บี10 และ บี20   มีราคาที่สะท้อนต้นทุนอยู่ที่ 35.73 บาท/ลิตร  แต่รัฐยังตรึงราคาขายปลีกไว้ที่ 30 บาท แสดงว่าใช้กองทุนน้ำมันฯ ดูดซับเพื่อไม่ให้ราคาสูงไป

การใช้บี100 หรือเอทานอลผสมน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ต้นทุนของราคาแพงขึ้น ฉะนั้นช่วงวิกฤตสงครามรัสเซียยูเครน ไม่สามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯไปอุดหนุน และดันราคาจนถึง 35 บาทต่อลิตร ซึ่งขณะนั้นต้นทุนดีเซลจริงอยู่ที่  42 บาทต่อลิตร ใช้เงินอุดหนุนอยู่ 7 - 8 บาท/ลิตร นี่เป็นที่มาเวลาเกิดวิกฤตการณ์ผสมบี100 มากเท่าไหร่ยิ่งทำให้น้ำมันแพง  ปัจจุบันจึงเหลือดีเซลบี 7 สเป็กเดียว เพื่อลดต้นทุนจากการผสมของบี100 ให้มากที่สุด

                          

ด้านนายวีระพล จิระประดิษฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า เชื้อเพลิงชีวภาพมี 2 ตัว คือเอทานอลกับไบโอดีเซล วันนี้จะพูดเรื่องไบโอดีเซล คำถามว่าทำไมรัฐบาลต้องส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ มองย้อนหลังไปเมื่อง 20 กว่าปีที่เราส่งเสริมแก๊สโซฮอล สมัยก่อนเราต้องนำเข้าน้ำมัน 90%ของการใช้ทั้งหมด จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรจะเอาน้ำมันจากพืชมาใช้ได้ จึงมีการนำเอทานอล และไบโอดีเซลมาผสมน้ำมัน ตั้งแต่ปี 2545 และพัฒนาการมาเรื่อยๆ

สาเหตุที่ทำไมต้องใช้ เพราะบ้านเราเป็นเมืองเกษตร ปลูกพืชพลังงาน เอทานอล มีอ้อย มีมันสำปะหลัง ส่วนดีเซล ก็มีปาล์มน้ำมัน มีโรงสกัด CPO มีโรงกลั่นน้ำมันบี 100 ในประเทศขึ้นมา และเหลือเฟือ สุดท้ายพืชพลังงานที่นำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มได้ ถ้าวันนี้ไม่นำมาผสมดีเซล ราคาปาล์มตกแน่นอน ซึ่งช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.ของทุกปีมักจะเห็นม็อบภาพใต้ขึ้นมายื่นข้อเรียกร้องที่กรุงเทพฯ เพื่อขอให้เพิ่มไบโอดีเซลเป็น 5% เป็น 7% เป็น10% จะเห็นภาพกดดันทุกปี ซึ่งนี่เป็นส่วนของต้นน้ำ

ส่วนกลางน้ำมีโรงสกัดน้ำมันปาล์ม และโรงบี100 ที่นำไปผสมกับน้ำมันดีเซล ซึ่งโรงกลั่นอยู่แถวภาคตะวันออก เพื่อจำหน่ายตามปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มทุกขั้นตอน การผสมจึงมีลักษณะ win-win พืชผลเกษตรราคาดีขึ้น ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนเกษตรกรได้จากราคาปาล์มปีละ  3-4 หมื่นล้านบาท และสุดท้ายพืชพลังงานดีต่อสิ่งแวดล้อม เรื่อง CO2 ก็เป็นเทรนด์มาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาอุปสรรคคือการผสมบี100 ในดีเซล  รถยนต์ที่รองรับได้จะเป็นสัดส่วนผสมที่ 5% แต่ถ้าเป็น 7% อาจต้องเป็นรถรุ่นใหม่ๆ และปัจจุบันผสมอยู่ 10% คงต้องรอรถรุ่นใหม่ปรับเพิ่มจูนเพิ่ม

“วันนี้ดีเซลต้นทุน 19 บาท บี100 ต้นทุน 35 ถ้ามาผสม 10% ต้นทุนเพิ่ม 3 บาทต่อลิตร ยิ่งผสมมากยิ่งแพง ผสมมากแล้วจะต้องทำให้คนมาใช้ด้วย หากแพงคนก็ไม่ใช้ จึงต้องให้กองทุนน้ำมันฯ มาช่วยอุดหนุนราคา เพื่อให้ราคาถูกกว่า ที่ผ่านมาโรงงานน้ำมันปาล์มมี 15 แห่ง กำลังการผลิต 10.3 ล้านลิตร/วัน วันนี้ใช้ในภาคพลังงาน 45%ที่เหลือใช้บริโภค ถ้ากองทุนน้ำมันฯ ไม่สนับสนุนให้มาใช้กับน้ำมัน ส่วนเกินอีกครึ่งจะไปไหน ซึ่งปาล์มแดงเป็นแนวทางหนึ่งสร้าง value add ให้น้ำมันปาล์ม แต่ไม่สามารถดูดซับส่วนเกินไปได้”

นายวีระพล กล่าวว่าในอนาคตการใช้น้ำมันในภาคขนส่งจะลดลง จากความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่จะมาแทนดังนั้นรถยนต์ที่ใช้เบนซินและดีเซล ในระยะยาว 20 ปี เมื่อรวมกับเรื่อง climate change จะลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะรถ EV เข้ามาแทนถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะปาล์มน้ำมันจะเหลือจำนวนมาก โรงงานจะทำอย่างไร เอทานอลก็เช่นกันเหลือคล้ายกัน

                       

ขณะที่รศ.ดร. หมุดตอเล็บ หนิสอ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตน้ำมันปาล์มแดงบริสุทธิ์มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างมาก แม้ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มแดงจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตปาล์มในตลาดได้ไม่ถึง 10% ของปริมาณปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้ แต่เป็นทางเลือกช่วยเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจากวัฏจักรปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ โดยการวิจัยเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อรักษาคุณค่าของผลิตภัณฑ์ และยังลดระยะเวลาการใช้ความร้อนในการอบผลปาล์ม

สำหรับน้ำมันปาล์มแดงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลปาล์มสด มีคุณสมบัติโดดเด่นที่ส่งผลดีต่อสุขภาพซึ่งเป็นกระแสที่เกิดการตื่นตัวอย่างมากในปัจจุบัน โดยน้ำมันปาล์มแดงมีสารอาหารที่มีคุณค่าสูงมาก โดยเฉพาะสารเบตาแคโรทีนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีค่าสูงกว่ามะเขือเทศ 300 เท่า และสูงกว่าแครอท 15 เท่า และยังมีวิตามินอี ไม่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์ซึ่งการอักเสบนี้เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เกิดเนื้องอก

นอกเหนือจากการพัฒนาเป็นส่วนประกอบในอาหารแล้ว น้ำมันปาล์มแดงยังต่อยอดเป็นส่วนประกอบกลุ่มเวชสำอาง เครื่องประทินผิว ซึ่งจากผลการวิจัยฯในปี 2563 ได้ยกระดับการผลิตโรงบีบปาล์มชุมชนจากเกรดอาหารสัตว์เป็นเกรดเวชสำอาง และในปี 2566 ที่ผ่านมาผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยมีโรงงานต้นแบบอยู่ที่วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ท่าสะบ้า จ.ตรัง

ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มแดงเป็นน้ำมันปาล์มพรีเมียมที่ใช้เทคโนโลยีไมโครเวฟในกระบวนการผลิตทำให้มีต้นทุนต่ำ โรงงานที่ตั้งขึ้นใช้เงินลงทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่างจากการผลิตแบบดั้งเดิมที่หากเป็นโรงสกัดน้ำมันปาล์มต้องลงทุนกว่า 200 บาทหรือโรงกลั่นน้ำมันปาล์มก็ต้องลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท

       อีกทั้งเหตุผลด้านราคาที่ค่อนข้างให้ผลตอบแทนที่สูง ทลายปาล์ม 100 กิโลกรัม ผลิตน้ำมันปาล์มธรรมชาติได้ 12 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 500 บาท และยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะกระบวนการผลิตตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม โรงงานที่ผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีน้ำเสียใช้พลังงานหมุนเวียนได้ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการสนับสนุนหลักการ BCG หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนผ่านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน

                                              

ด้านนางจันทร์เพ็ญ ชิดเชื้อ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง กล่าวว่า ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำ ชาวสวนปาล์มจึงคิดพึ่งตนเองด้วยการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันและจดทะเบียนรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำการผลิตน้ำมันปาล์มแดงธรรมชาติ เพื่อสื่อให้ทุกคนทราบว่าน้ำมันปาล์มธรรมชาติมีสีแดงบริโภคได้ เป็นของดีมีวิตามินเอและอีมาก สามารถยกระดับด้านราคาผลผลิตในอนาคต แก้ปัญหาราคาผลปาล์มตกต่ำได้ ซึ่งน้ำมันปาล์มธรรมชาติ (สีแดง) ควรบริโภคเพื่อเป็นอาหารเสริมสุขภาพ นำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารแบบใช้ความร้อนต่ำ

ขณะเดียวกันสามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นผลิตเป็นสบู่ก้อน สบู่เหลว เจลนวดสมุนไพร เพราะวิตามินต่าง ๆและสารเบต้าแคโรทีนช่วยบำรุงผิว ลดริ้วรอยลดรอยเหี่ยวย่น ลดการอักเสบ โดยเฉพาะคนที่ผิวแห้ง ทางกลุ่มมุ่งเพิ่มมูลค่าของน้ำมันปาล์มธรรมชาติซึ่งมีสีแดงจึงเรียกกันว่าน้ำมันปาล์มแดงและกำลังพัฒนาต่อยอดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยได้ศึกษาดูงานต้นแบบจากมูลนิธิชัยพัฒนา

ปัจจุบันได้เข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ด้วยการนำเทคโนโลยีไมรโครเวฟมาใช้ในการอบผลปาล์มช่วยลดระยะเวลาลงได้จำนวนมาก โดยกระบวนการผลิตของกลุ่มเน้นการสกัดอย่างง่ายแบบธรรมชาติไม่ซับซ้อน เพื่อรักษาคุณภาพน้ำมันปาล์มธรรมชาติ และได้มาตรฐาน อย./GMP ซึ่งขณะนี้ยังวิจัยต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น ซอฟต์เจลผสมสมุนไพร การผลิตเจลลี่สำหรับคนสูงอายุ วิตามินสำหรับเด็ก มาการีนชีวภาพ ตลอดจนนำไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง อาหารไก่ อาหารโค เป็นต้น สิ่งที่กลุ่มคาดหวังจะให้เกิดในอนาคตคือโรงงานน้ำมันปาล์มธรรมชาติต้นแบบเชิงพาณิชย์ในชุมชนโดยมีเครื่องมือที่พร้อม 

             

                      

 

TAGS: #กองทุนน้ำมันฯ #เชื้อเพลิงชีวภาพ #เอทานอล #ไบโอดีเซล