สมาคมการบินฯถอดบทเรียนโควิด เผชิญปัญหาขาดแรงงานหลังถูกมองไม่ใช่อาชีพมั่นคง ขออีก 2 ปี อุตสาหกรรมการบินกลับมาสดใส เหตุนักท่องเที่ยวยังปักหมุดเที่ยวไทย
อุตสาหกรรมการบินของไทยมีสัญญาณที่ปรับตัวดีขึ้น หลังต้องเจอกับวิกฤตจากสถานการณ์โควิด ประเมินกันว่าจะได้เห็นทุกอย่างกลับเข้าสู่โหมดปกติได้ในอีก 2 ปี ข้างหน้า แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ขณะนี้กำลังเผชิญอยู่คือ การขาดแคลนบุคคลากร
ทั้งนี้ต้องยอมรับในช่วง 1-2 ปีของโควิด เหลือจำนวนบุคคลากรที่ทำงานด้านสายการบินเหลือเพียง 8 หมื่นคน จากเดิมที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมการบินประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ สำนักข่าว The Better ว่า ถึงทิศทางอุตสาหกรรมการบินว่า หลังสถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายการระบาดของโควิดน้อยลง แต่ละประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้มีการเดินทางมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติยอยเข้ามาในไทย ตั้งแต่ไตรมาส4 /2565 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนม.ค-ก.พ. 2566
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรัฐบาลจีนปลดล็อค มีการเปิดประเทศ ขณะที่ทางญี่ปุ่น ผ่อนคลายมาตรการ ส่งผลให้ 2 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 4 -5 ล้านคนเทียบกับเมื่อปี 2562 และ ปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50-60% โดยคาดการณ์ปีนี้จะเติบโตถึง 75% ขณะที่การเดินทางภายในในประเทศปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ซึ่งใกล้เคียงกับเมื่อปี 2562
หลายคนอาจมองว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางเพิ่มขึ้นมาจากการเปิดประเทศของจีน แต่เท่าที่ประเมินดูแล้วนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา ยังไม่มากนัก จะเป็นลักษณะทยอยการเดินทางมากกว่า เนื่องจากต้องให้เวลาในการเตรียมตัว เตรียมเอกสาร ต่างๆ โดยแนวโน้มที่เห็นมีการตอบรับที่ดี เริ่มมีการขอเที่ยวบินเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชัตเตอร์ไฟล์ท หรือการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจากจีน เพราะที่ผ่านมาหยุดทำการบินไปนาน ดังนั้นต้องมีการเจรจาสิทธิการบิน จุดบินต่างๆ ซึ่งไม่ได้เร็วอย่างที่คาดหวัง
แรงงานหาย ออกแล้วไม่กลับมา
นอกจากนี้ปัญหาที่ยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขคือ ขาดแคลนบุคคลากรด้านการบิน ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หายไปค่อนข้างเยอะทุกๆด้าน โดยส่วนสำคัญที่สายการบินพยายามรักษาไว้ คือ นักบิน แต่ด้านอื่นๆ ที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดงานบริการของเที่ยวบิน เช่นพนักงานภาคพื้น พนักงานดูแลกระเป๋า รวมถึงการทำงานในส่วนที่ดูแลภาคพื้น งานตั๋วโดยสาร จำนวนคนเหล่านี้ลดลงไปมาก
ดังนั้นเมื่อธุรกิจการบินเริ่มฟื้นตัว จึงได้เห็นการร้องเรียนในเรื่องงานบริการต่างๆ หรือกระเป๋าล่าช้า ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องเข้าใจว่าเมื่อบุคคลากรด้านนี้หายไปกว่าจะกลับมาเหมือนเดิมมันต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่ว่ารับสมัครมาแล้วทำงานได้เลย จะต้องมีการฝึกอบรม เรื่องมาตรฐานการทำงานต่างๆ แม้กระทั่งการยกกระเป๋าก็ต้องมีวิธีการที่จัดการ
แม้ว่าสายการบินจะเริ่มเปิดรับสมัครบุคคลากรด้านการบินแล้วก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าคนสนใจเข้ามาทำงานในธุรกิจการบินน้อยลง บางทีเปิดรับสมัคร ก็ไม่มีคนเข้ามามากนัก อย่างกรณีเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ทำงานภาคพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้ มีผู้สนใจมาสมัครเป็น 1,000 คน แต่ล่าสุดมาสมัครแค่ 200-300 คน เท่านั้น
“ทำให้มีการมองว่าธุรกิจการบิน ไม่ใช่งานที่มั่นคง ไม่หรูหราเหมือนเมื่อก่อน และห่วงว่าจะมีผลกระทบอีกก็เป็นได้ ขณะที่คนที่ออกจากวงการนี้ไปแล้วก็หันไปทำอาชีพอื่น ซึ่งก็น่าจะเหมือนกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่นโรงแรม คนหายไปจากระบบ เชฟ บาร์เทนเดอร์ น้อยมากที่จะกลับเข้าระบบเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตามการดึงคนกลับมาทำงานให้เหมือนเดิมยังต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนที่คาดหวังจะให้กลับมาทำงานเร็วเพื่อรองรับความต้องการได้ทันคงยังไม่ได้ ซึ่งเท่าที่ประเมินคนในอุตสาหกรรมการบินหายไปจากระบบประมาณ 30% และตอนนี้เพิ่งกลับเข้ามาแค่ 20% เท่านั้น”
แอร์ไลน์เลิกตัดราคา เน้นงานบริการหลังฟื้นตัว
หากมองของธุรกิจสายการบินเรื่องการแข่งขันคงปฏิเสธไม่ได้ หากมองช่วงก่อนเกิดโควิด จะแข่งขันกันเรื่องราคา ของใครราคาถูก มีโปรโมชั่นอะไรบ้างเพื่อดึงลูกค้า แต่ปัจจุบันแม้เมื่อทุกอย่างเริ่มฟื้นตัว ผลกระทบยังมีค่อนข้างเยอะทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายของเครื่องบินในโรงซ่อม อุปกรณ์อะไหล่ ทุกบริษัทต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ ดังนั้น การแข่งขันด้านราคาคงไม่ดุเดือดเท่าไหร่ แต่จะน้อยลงไปเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากกว่า คงไม่เห็นโปรโมชั่นประเภทศูนย์บาท
ปัจจุบันการแข่งขันของสายการบินจะยังให้ความสำคัญกับเส้นทางบินหลักในประเทศ อย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ ส่วนเส้นทางอื่นๆ มีบ้างแต่ไม่มาก ขณะที่เส้นทางบินประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม กัมพูชา อาจต้องใช้กลยุทธ์เรื่องราคาที่จูงใจบ้าง ซึ่งคงไม่มากเพราะทุกคนก็บอบช้ำมาค่อนข้างเยอะ
ถอดบทเรียนโควิด ตุนสภาพคล่อง 6 เดือน
ผมคิดว่าวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ภาคเอกชนเจอมาเยอะ หลากหลายรูปแบบ เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย ค่าเงินบาทลอยตัวปี 2540 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาน้ำมันแพง จาก 40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับไปถึง 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งตอนนั้นก็เป็นวิกฤตของธุรกิจการบิน จนมองว่าถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อกว่านี้สายการบินคงหายไปครึ่งหนึ่งของโลก
สำหรับสถานการณ์โควิดน่าจะหนักหน่วงมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา เพราะสถานการณ์อื่นๆ ยังพอทำการบินได้หรือผู้โดยสารไม่เดินทางแต่โควิดต้องหยุดบินไปเลย รายได้ไม่มี มีแต่ค่าใช้จ่าย เครื่องบินจอดอยู่เฉยๆก็มีค่าใช้จ่าย ค่ารักษาสภาพ ขณะที่จำเป็นต้องเก็บรักษาบุคคลากรที่สำคัญไว้ ต้องมาตรการที่ลดผลกระทบในระยะสั้น
พุฒิพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเกิดโควิดมาอีกรอบ สิ่งแรกอาจต้องรีบลดคนก่อน แล้วค่อยมาเริ่มกันใหม่ บทเรียนจากโควิด คิดว่าปัญหาจะอยู่แค่ 3-4 เดือน ปรากฏว่าผ่านไปเกือบ 3 ปีกว่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตามเชื่อปัญหามักจะไม่เกิดซ้ำเดิม ยกเว้นมีปัญหาใหม่ ซึ่งเราก็ต้องเตรียมตัว ในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางการเงินต้องมีเงินสภาพคล่องสำรองไว้อย่างน้อย 6 เดือน จากเดิมที่เตรียมไว้แค่ 2-3 เดือนเท่านั้น
ชงรัฐต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันถึงสิ้นปี’66
1-2 ปีข้างหน้าหลังจากนี้ไป อนาคตอุตสาหกรรมการบินน่าจะสดใสขึ้น คนเริ่มเดินทาง นักท่องเที่ยวต่างชาติตอบรับดี ผู้ให้บริการสายการบินอื่น ที่บินเข้ามา ค่อยๆทยอยปรับตัวเพิ่มเที่ยวบิน เดิมใช้เครื่องเล็กก็หันมาใช้เครื่องลำใหญ่ ประเทศไทยยังเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสนใจ เข้ามาใช้บริการ โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นที่น่าสนใจ
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มกลับเข้ามา แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือนักท่องเที่ยวสหรัฐ มีมากขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวเอเชีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ส่วนนักท่องเที่ยวจีนก็เริ่มเข้าเรื่อยๆตั้งแต่ต้นปีมีเที่ยวบินจากจีน นับเป็น 1,000 ไฟล์ท หรือเดือนละประมาณ 300 เที่ยว หลังจากนี้จะเริ่มเพิ่มขึ้น เพราะสายการบินเริ่มมีการเจรจาเพิ่มเที่ยวบิน โดยในไตรมาส 2 น่าจะเห็นภาพชัดเจนของนักท่องเที่ยวจีน ปีหน้าหรือปีถัดไป การท่องเที่ยวน่าจะกลับมาครบหรือมากกว่า
อย่างไรก็ตามขณะนี้เตรียมเสนอรัฐบาลพิจารณาขยายเวลามาตการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นสำหรับ อากาศยานภายในประเทศ จากเดิมอัตราลิตรละ 4.726 บาท เป็นลิตรละ 0.20 บาท จากเดิมมาตรการจะสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2566 โดยจะขอขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากน้ำมัน เป็นต้นทุนประกอบการถึง 20% ขณะที่ตัวเลขผลประกอบการสายการบินยังติดลบกันอยู่ แต่มั่นใจปีนี้น่าจะดีขึ้น