‘17,431’ สาขาร้านสะดวกซื้อ ในมือ 4 ตระกูลเจ้าสัวเมืองไทย ถ้าเข้าเกณฑ์ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต หมื่นบาท’

‘17,431’ สาขาร้านสะดวกซื้อ ในมือ 4 ตระกูลเจ้าสัวเมืองไทย ถ้าเข้าเกณฑ์ ‘ดิจิทัล วอลเล็ต หมื่นบาท’
หลังรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ประกาศเงื่อนไขการใช้เงินหมื่นดิจิทัล ไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา พร้อมมีข้อกังขาว่าสามารถนำไปใช้ในร้านสะดวกซื้อ ได้หรือไม่?

ด้วยวงเงิน 5 แสนล้านบาทต่อการนำมาใช้ตามนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย จะใช้งบประมาณปี 2567 และ 2568  แบ่งเป็น 3 ส่วน ในงบฯปี 2568  งบฯปี 2567 และเงินตามมาตรา 28 ของกรอบวินัยการเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

 

เมื่อได้แหล่งที่มาของเงินแล้ว การกระจายเม็ดเงินให้ถูกนำไปใช้ต่อไปจะต้องเป็นไปตาม 7 เงื่อนไข ดังนี้

 

1. เป้าหมายประชาชน 50 ล้านคน  ผู้มีอายุเกินอายุ 16 ปีขึ้นไป ไม่มีรายได้เกิน 840,000 บาทต่อปี และไม่มีเงินฝากเกิน 5 แสนบาท (เป็นเกณฑ์เดิม)

 

2. เงื่อนไขการใช้จ่ายประชาชนกับร้านค้า ในพื้นที่อำเภอ ร้านค้าขนาดเล็ก ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น

 

3. ร้านค้ากับร้านค้าไม่กำหนดพื้นที่ ไม่กำหนดขนาดของร้านค้า การใช้จ่ายได้หลายรอบ การเปลี่ยนแปลงรอบที่ 1 เป็นของประชาชนกับร้านค้า สินค้าทุกประเภท ไม่รวมสินค้าอบายมุข สินค้าออนไลน์ น้ำมัน

 

4. ใช้ระบบพัฒนาขึ้นเอง โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. ร่วม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พัฒนาซูเปอร์แอปพลิเคชั่น ใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น

 

5. คุณสมบัติร้านค้าที่ถอนเงิน

  • ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีรายได้พึงประเมิน เปินผู้ประกอบอาชีพค้าชาย
  • การถอนเงินสด ถอนทันทีไม่ได้ ต้องถอนหลังจากใช้จ่ายรอบที่ 2 เป็นต้นไป ลดควาเมสี่ยงทุจริต เพิ่มเผลกระตุ้นเศรษฐกิจ

6.  ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการไตรมาส 3/2567 เริ่มใช้จ่าย ไตรมาส 4/2567

 

7. ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำผิดหลักเกณณ์  โดยมีรองผบช.น. เป็นประธานฯ และ ผบช.ไซเบอร์ เป็นรองประธานฯ

 

ขณะที่ ข้อสังเกตการใช้เงินหมื่นดิจิทัล อยู่ที่เงื่อนไขข้อ 2 ที่ระบุให้ประชาชนใช้ได้กับร้านค้าในพื้นที่อำเภอ ร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งนั่นอาจหมายรวมถึงร้านค้าโชห่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยมากกว่า 400,000 ราย ตามเจตนารมณ์หลักที่รัฐบาล ตั้งใจไว้ให้ใช้ก็เป็นไปได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตั้งคำถามของผู้สื่อข่าวต่อถึงคำจำกัดความของ 'ร้านค้าสะดวกซื้อ' ว่าเข้าข่ายการเป็นร้านค้าขนนาดเล็ก ด้วยหรือไม่?

 

โดยหากนำร้านค้าสะดวกซื้อ หรือ คอนวีเนียน สโตร์ เข้าร่วมในโครงการแจก ‘เงินหมื่นดิจิทัล’ ในครั้งนี้ด้วยแล้ว อาจจะไม่ได้แค่เฉพาะกับร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น (7-Eleven) ที่ปัจจุบันมีสาขากระจายทั่วประเทศ 14,391 สาขา (ข้อมูล สิ้นไตรมาส 3/66) ภายใต้บริษัทซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน) อาณาจักรซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์  

 

ด้วยคำจำกัดความ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ในตลาดประเทศไทยในเวลานี้ ยังรวมไปถึงแบรนด์อื่นๆที่มีอยู่ในตลาดอีก อาทิ

  • ‘ท็อปส์ เดลี่’ (Tops Daily) จำนวน 515 สาขา

(หลังบริษัทซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ธุรกิจ ของกลุ่มเซ็นทรัล ตระกูลจิราธิวัฒน์ หมดสัญญาบริหารสิทธิ์กับร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่ มาร์ท ไปเมื่อกลางปี2566 ที่ผ่านมาและได้ทยอยเปลี่ยนผ่านทุกสาขาแฟมิลี่มาร์ท มาเป็น ท็อปส์ เดลี่ ในปัจจุบัน)

  • ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ซีเจ มอร์

โดยอัปเดทข้อมูลเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ร้านค้าปลีกทั้ง 2 แบรนด์มีมากกว่า 1,100 สาขา ครอบคลุม 42 จังหวัด 5 ภาค พร้อมแผนลงทุนขยายสาขาเพิ่มอีก 250 สาขาในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มคาราบาวกรุ๊ป ของเจ้าพ่อน้ำเมา 'เสถียร เสถียรธรรมะ'

  • ‘โดนใจ’

โมเดลค้าปลีกขนาดเล็ก ของกลุ่มบริษัท บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี (บริหารโดยทายาทคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี) โดยใช้เครือข่ายร้านค้าโชห่วยทั่วไทยนำมาเข้าระบบไอทีของบีเจซี ที่ปัจจุบันมีเครือข่ายมากกว่า 1,000 ร้านค้า

 

หากรวมจำนวนคร่าวๆ การนำเงินดิจิทัล วอลเล็ต หนึ่งหมื่นบาท ให้นำไปใช้ได้กับร้านค้าขนาดเล็ก ตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ อาจจะเห็นได้ว่าแบ่งเป็นกลุ่มร้านค้าโชห่วย จำนวน 4 แสนราย (โดยในกลุ่มนี้ยังมีแนวคิดของการขยายสาขาของกลุ่มคาราบาว และบีเจซี ในการเปลี่ยนผ่านร้านโชห่วยมาเข้าระบบของแบรนด์ร้านค้าปลีกตัวเอง) หากนับร้านค้าสะดวกซื้อในเครือเจ้าสัว 4 ตระกูลใหญ่ที่ครอบครองรวมแล้ว อาจจะมีไม่ต่ำกว่า ‘17,431’ สาขาทั่วประเทศ

 

 

TAGS: #ดิจิทัลวอลเล็ต #เซเว่นอีเลฟเว่น #ท็อปส์ #โดนใจ #ซีเจมอร์ #ซีเจ #ซูเปอร์มาร์เก็ต