ไตรมาสแรกปี 67 ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 35,902 ล้าน "ญี่ปุ่น"อันดับหนึ่ง 

ไตรมาสแรกปี 67 ต่างชาติขนเงินลงทุนไทย 35,902 ล้าน
พาณิชย์ เผยไตรมาสแรกปี 67 ต่างชาติลงทุนในไทย 35,902 ล้านบาท ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 19,006 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 3,294 ล้านบาท  จ้างงานคนไทย 849 คน 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ไตรมาสแรกปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 178 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 53 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 125 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 35,902 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 849 คน 

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 40 ราย คิดเป็น 22% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,006 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงงานผลิตอะเซทีลีนแบล็ก ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนอุปกรณ์ใยแก้วนำแสง/ชิ้นส่วนรถยนต์/ชิ้นส่วนโลหะ) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ

2.สิงคโปร์ 32 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 3,294 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการให้ใช้ระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการทางบัญชี/บริการวางแผนการตลาดและส่งเสริมการขายสินค้า/บริการรับค้ำประกันหนี้) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์และอุปกรณ์จับยึด/ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ)

3.สหรัฐอเมริกา 29 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 1,048 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ  ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจนายหน้าและตัวแทนในการจัดซื้อ จัดหา และจัดจำหน่ายสินค้า (เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์/เครื่องประดับ) ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป/เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม) ธุรกิจบริการติดต่อประสานงาน บริหารจัดการ ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์/DRUM BRAKE ASSEMBLY)


4.จีน 20 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 2,886 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม/สารแต่งกลิ่นและรสชาติ) ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม

5.ฮ่องกง 11 ราย คิดเป็น 6% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,017 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป) ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์/ ชิ้นส่วนประกอบที่ทำจากอลูมิเนียม) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการด้านการจัดการร้านอาหารและคาเฟ่

จึงถือได้ว่าการเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (มกราคม – มีนาคม 2566) พบว่า อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จำนวน 4 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 2% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 อนุญาต 178 ราย / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 อนุญาต 174 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 2,854 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 9% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ลงทุน 35,902 ล้านบาท / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 ลงทุน 33,048 ล้านบาท) ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 1,083 ราย หรือ ลดลง 56% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 จ้างงาน 849 คน / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 จ้างงาน 1,932 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ไตรมาสแรกของปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 56 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 25 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 81% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ลงทุน 56 ราย / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 ลงทุน 31 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 11,629 ล้านบาท คิดเป็น 32% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 8,365 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 256% (เดือนมกราคม – มีนาคม 2567 เงินลงทุน 11,629 ล้านบาท / เดือนมกราคม – มีนาคม 2566 เงินลงทุน 3,264 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจากประเทศ *ญี่ปุ่น 12 ราย ลงทุน 995 ล้านบาท *จีน 12 ราย ลงทุน 924 ล้านบาท *สิงคโปร์ 8 ราย ลงทุน 898 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 24 ราย ลงทุน 8,812 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำน้ำเย็น และระบบปรับอากาศ เป็นต้น ธุรกิจบริการตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปทางด้านภาพ เสียงระบบนำร่อง และชิ้นส่วน/แม่พิมพ์ ชิ้นส่วนแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูป/อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เป็นต้น

TAGS: #พาณิชย์ #ญี่ปุ่น #ลงทุน