‘ไซมีส’ หันเจาะหนักกำลังซื้อเศรษฐีตลาดเมียนมา แห่ซื้อคอนโด-เพนฮ้าส์หรู ราคาเริ่มต้น 30 ล้านบาท ให้ลูกมาเรียนหนีศึกสงครามในประเทศ พร้อมเปิดแผนธุรกิจปี67 มุ่งลดหนี้ ทำรายได้แตะ 7,000 ล.บาท
ขจรศิษฐ์ สิ่งสรรเสริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) หรือ SA ผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย โรงแรม เปิดเผยว่าจากปัจจัยจีนเปิดประเทศ หลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด และความขัดแย้งทางการเมือง-สงครามภายในประเทศเมียนมาในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ต้องการที่อยู่อาศัยในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น
โดยกลุ่มลูกค้าอันดับ1 คือ ชาวจีน เห็นได้จากความต้องการที่อยู่อาศัยคอนโดมีเนียม โครงการไซมีส บนทำเลถนนพระราม 9 ที่มีความต้องการเติบโต่ต่อเนื่อง ส่วนอันดับ 2 เป็นกลุ่มชาวเมียนมาที่มีกำลังซื้อสูง และต้องการโครงการฯระดับหรู หรือ เพนเฮ้าส์
ทั้งนี้ หลังเกิดการปะทะภายในประเทศเมียนมาในช่วงที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐีเมียนมาที่ไม่ต้องการส่งลูกไปเกณฑ์ทหาร และนิยมส่งลูกหลานมาศึกษาต่อในต่างประเทศโดยเฉพาะในไทยมากขึ้น และมีความต้องการที่อยู่อาศัยตามมา โดยเฉพาะในโครงการที่มีราคาสูงซึ่งบริษัทได้ทำตลาดไปแล้ว 26 ยูนิต ขนาดพื้นที่เริ่มต้น 80 ตารางเมตร ราคา 30 ล้านบาทขึ้น
โดยบริษัทจะทำสัญญากับลูกบ้านระยะเวลาหนึ่งปี ซึ่งจะได้รับความสะดวกสบายในรูปแบบโรงแรมที่เข้ามาบริหารจัดการ รวมถึงห้องชุดเพนเฮ้าส์ ที่ได้รับความนิยมในแบบหนึ่งห้องนอนมารวมกัน ซึ่งบริษัทขายไปได้แล้วจำนวน 26 มีขนาดพื้นที่เริ่มต้น 80 ตร.ม. ราคา 30 ล้านบาทขึ้นไป
“แนวโน้มดังกล่าว ทำให้บริษัทมีแผนจัดอีเวนต์ในเมืองย่างกุ้ง เพื่อดึงกำลังซื้อในกลุ่มนี้ด้วย” ขจรศิษฐ์ กล่าว
แผนปี 67 มุ่งลดหนี้ รับอสังหาฯไทยยังซึม
ขจรศิษฐ์ กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในขณะนี้ ยังอยู่ในภาวะซึมเซา จากปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี (GDP)ประเทศในปัจจุบันที่ยังไม่ขยายตัวมากนักสวนทางกับรายได้ประชาขน
โดยแผนระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2567-2569) บริษัทฯ จะงดการลงทุนการซื้อที่ดินแปลง แต่จะมุ่งการพัฒนาโครงการจากที่ดินเดิมที่มีอยู่ (แลนด์แบงก์) เพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาดอสังหาฯ ในช่วงนี้ ทั้งวความยากลำบากในการออกหุ้นกู้ และความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อโครงการ เป็นต้น
“ด้วยแลนด์แบงก์ที่มีอยู่ขณะนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะสร้างรายได้ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท/ปี” ขจรศิษฐ์ กล่าว
ขณะที่ในปี 2567 บริษัทวางเป้าหมายท้าทายในเบื้องต้น มีรายได้อยู่ที่ระดับ 7,000 ล้านบาท โดยรายได้หลักจะมาจาก
- การโอนโครงการ Landmark @ MRTA Station (พระราม 9) ที่มี backlog สิ้นปี 2566 มูลค่ากว่า 4,800 ล้านบาท ซึ่งจะมีการทยอยโอนอย่างต่อเนื่องมาในปีนี้
โดยมีรายได้จากการโอนคอนโดฯประมาณ 4,100 ล้านบาท มาจากแนวราบประมาณ 2,000-2,200 ล้านบาท
- รายได้อื่นๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ประมาณ 500-600 ล้านบาท
พร้อมวางเป้าหมายรายได้ประจำคงที่ (Recuring Business) อยู่ที่สัดส่วน 15% ของรายได้บริษัท ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 8%
ขจรศิษฐ์ กล่าวว่า “ในปีนี้บริษัทฯ ยังโฟกัสการลดหนี้ โดยใตั้งเป้าลดหนี้ให้เหลือ 1.4 เท่า และอนาคตจะลดหนี้ให้เหลือต่ำกว่า 1 เท่า”
พร้อมซัพพอร์ต ทุกนโยบายรัฐบาล
ขจรศิษฐ์ กล่าวว่าสำหรับ 7 มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะค่าธรรมเนียม ลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือ ห้องชุด จาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับบ้านและคอนโด ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาทนั้น
มาตรการฯนี้ เชื่อว่าจะกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจโอนได้ไวมากขึ้น แม้ว่าโดยทั่วไปผู้ประกอบการอสังหาฯ จะจัดโปรโมชั่นแคมเปญให้โอนค่าธรรมเนียมฟรีด้วยก็ตาม ซึ่งข้อดีของมาตรการนี้ บริษัทยังสามารถนำส่วนต่างจาก วงเงินค่าธรรมเนียม 2% ไปเป็นส่วนลด หรือ จัดโปรฯเพิ่มเติม หรือการซื้อแถมเฟอร์นิเจอร์ เพื่อกระตุ้นการขายให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้น
พร้อมกล่าวต่อ ถึงการปรับครม.เศรษฐา 2 “โดยส่วนตัวพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน แม้จะมีการตั้งฉายาว่าเป็นเซลล์แมนก็ตาม ซึ่งการทำงานในภาพรวมที่ผ่านมา หัวหน้ารัฐบาลชุดนี้มีความพร้อมและความตั้งใจในการทำงานเต็มที่”
ขณะที่นโยบายค่าแรงขึ้นต่ำที่เตรียมปรับขึ้นเป็น 400 บาททั่วประเทศ นั้นมองว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาฯ ด้วยตลอดช่วงที่ผ่านมาแรงงานในอุตฯนี้ ได้รับค่าจ้างรายวันเกินอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ด้วยผู้ประกอบการอสังหาฯ จะว่าจ้างผ่านผู้รับเหมาก่อสร้างพร้อมจ่ายค่าแรงรายวันให้กับแรงงานตามประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity) อาทิ งานฝีมือการปูกระเบื้อง ที่คิดค่าแรงราว 200 บาทต่อตร.ม. หากใช้แรงงาน 2 คนทำงานดังกล่าวในพื้นที่ 6 ตร.ม. จะได้รับค่าแรงรวมอยู่ที่ 1,200 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการปรับค่าแรงระดับปริญญาตรี อัตราใหม่ แรงงานในอุตสาหกรรมบริการโรงแรม ปัจจุบันพนักงานระดับปริญญาตรี ได้รับค่าจ้างรายเดือนเฉลี่ย 12,000 ซึ่งยังไม่นับรวมรายรับอื่นที่มาจากค่าบริการ หรือ เซอร์วิส ชาร์จ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน เป็นอย่างน้อย
โดยค่าแรงอัตราใหม่ที่จะปรับขึ้นเป็น 400 บาทไม่กระทบตลาดอสังหาฯ บริการ ซึ่งบริษัทพร้อมสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ แต่อัตราค่าแรงงานใหม่นี้ เชื่อว่าจะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่ใช้ต้องการแรงงานต้นทุนต่ำจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าต้องย้ายความต้องการแรงงานลักษณะนี้ไปยังฐานผลิตอื่น เช่น ในรอบนอกประเทศเพื่อนบ้าน
ขณะที่ การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ไปจนถึงค่าจ้างระดับปริญญาตรีอัตราใหม่ เชื่อว่าจะเข้ามายกระดับรายได้ของคนไทย ให้สอดรับกับค่าครองชีพในปัจจุบัน โดยเฉพาะการอยู่อาศัยในกรุงเทพฯที่พบว่าค่าใช้จ่ายอยู่อาศัยรายเดือนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 บาท ขณะที่พนักงานระดับปริญญาตรีมีรายได้เริ่มต้นอยู่ที่ 12,000 บาทต่อเดือน
“บริษัทฯให้อัตราจ้างพนักงานจบใหม่ระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 20,000 บาทต่อเดือน ด้วยมองว่าเป็นการลงทุนเพื่อให้พนักงานลุยงานได้ และระหว่างทางการทำงานยังมีช่องทางในการสร้างการเติบโตในสายอาชีพ และมีชีวิตที่ดีด้วย” ขจร กล่าว
พร้อมกล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย นับจากนี้ไปอาจต้องใช้ อสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการกระตุ้นทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ซึ่งเห็นว่าภาครัฐควรจะต้องเร่งเข้ามาให้การสนับสนุนโยบายอสังหาฯในไทยต่อไปในด้านนี้ ด้วยกลุ่มชาวต่างชาติ มีการใช้เงินก้อนใหญ่เข้ามาลงทุนอสังหาฯ ในประเทศไทย ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ต่อข้อกังวลชาวต่างชาติจะเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินในประเทศไทยในอนาคตนั้น มีความเป็นไปได้ในการป้องกันด้วยการตั้งอัตราทางภาษีด้านต่างๆ เข้ามามาตั้งรับได้เช่นกัน หรือ ในส่วนของการจัดเก็บค่าส่วนกลางที่อยู่อาศัย ที่มีการปรับขึ้นทุกปีต่อเนื่อง เป็นต้น ที่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้ต่างชาติไม่ต้องการครอบครองที่อยู่อาศัยในไทย ระยะยาว